งานฝีมือชุมชน+วัสดุธรรมชาติ กลายเป็นหน้ากากผ้าฝ้ายโทนสีสวย

ผ้าทอเชียงใหม่

กลายเป็นว่าช่วงโควิดที่ทำให้หลายๆ ธุรกิจหยุดชะงักหรือปิดตัวไป แต่ในเวลาเดียวกันก็มีบางธุรกิจที่เกิดใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการมาก เราไถหน้าฟีดส์เฟสบุ๊กไปเจอหน้ากากอนามัยของแบรนด์หนึ่งที่ใช้ชื่อว่า Mom’s และเซ็ต Organic cotton ในนั้นก็สะกดเราให้คลิกเข้ามาดูต่อทันที ด้วยโทนสีและวัสดุธรรมชาติของ ‘หน้ากากผ้าฝ้ายเชียงใหม่’ ที่ทำให้มันดูโดดเด่นไม่เหมือนใคร

ชุมชนทอผ้าเชียงใหม่

จุดเริ่มต้นมาจากการที่คุณแฟนต้า อรสุรางค์ พรหมรักษา เจ้าของธุรกิจเสริมความงามในกรุงเทพฯ มีความจำเป็นต้องปิดร้านในช่วง Covid-19 ตามมาตรการของรัฐบาล จึงเดินทางกลับบ้านเกิดที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เธอเติบโตขึ้นที่นั่นและมีความชื่นชอบในเรื่องงานผ้าอยู่แล้ว การเดินทางกลับไปครั้งนี้ เมื่อได้เจอกลุ่มชาวบ้านที่มีฝีมือในการทอผ้า จึงเกิดไอเดียช่วยชาวบ้านในเรื่องการตลาด และกระบวนการขาย ด้วยการเปิดเพจ Mom’s ให้แม่ๆ ป้าๆ ช่างทอทั้งหลายมารวมตัวกันในโปรเจ็กต์นี้

เก็บฝ้าย
การเก็บฝ้ายเอามาปั่นและทอ
ทอผ้าเชียงใหม่
กลุ่มชาวบ้านในจังหวัดเชียงใหม่

“ชาวบ้านกลุ่มนี้ที่เชียงใหม่ เขาเคยทำงานให้กับแบรนด์ดังๆ อยู่เหมือนกันค่ะ แต่ก็ถูกเลิกจ้างไป และชุมชนทอผ้าในเชียงใหม่เอง รัฐบาลก็เคยมีโครงการเงินกู้เพื่อสนับสนุนชาวบ้านในการผลิตผ้าอยู่แล้ว แต่ว่าไม่ได้ทำเรื่องมาร์เก็ตติ้ง พอผลิตของมาเสร็จ ก็ไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน ไปออกบูธก็ต้องมีค่าใช้จ่าย พี่เห็นว่ามีผ้าเต็มเลย เราก็เลยบอกว่าจะมาทำขายให้ เพราะช่วงที่กลับบ้านมา เราก็ว่างด้วย ไม่รู้จะทำอะไร” โปรเจ็กต์ทำผลิตภัณฑ่จากผ้าฝ้ายเชียงใหม่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของคุณแฟนต้าและกลุ่มชาวบ้าน ภายในช่วงสองเดือนที่ผ่านมานี้เอง

ชาวบ้านทอผ้า
ช่างย้อมผ้าของแบรนด์ Mom’s

“คำว่า Mom’s ก็มาจากกลุ่มชาวบ้านที่เป็นวัยแม่ๆ ป้าๆ นี่ล่ะค่ะ ช่างทอบางคนมีจักรสมัยก่อนแบบ 20 กว่าปีที่แล้ว เห็นเขาเอาหัวจักรออกมาทำความสะอาด เราเห็นแล้วก็อยากช่วยเขา ก็เลยให้เขาทอและย้อมผ้ามา ทางพี่รับซื้อ ส่วนเรื่องแพทเทิร์นการตัด ก็มาคุยกัน มีทั้งที่เขาออกแบบมาเอง และที่พี่กับน้องชายช่วยปรับให้มันดูทันสมัยขึ้น” คุณแฟนต้าเอ่ยถึงน้องชาย ซึ่งเรียนจบมาทางด้านแอนิเมชั่น มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ามาช่วยออกแบบลวดลายโปรดักต์ และทำกราฟิกโฆษณาสำหรับลงขายทางเพจด้วย

ข้อดีของการนำผ้าฝ้ายเชียงใหม่มาทำหน้ากากอนามัย

ฝ้ายเชียงใหม่

ผ้าฝ้าย ภาษาอังกฤษเรียกว่า Cotton เรารู้จักกันอยู่แล้วในคุณสมบัติที่ระบายอากาศได้ดี บ้านเราจึงใช้ผ้าฝ้ายทำเสื้อผ้ากันเยอะ เนื่องจากเป็นเมืองร้อน และผ้าฝ้ายก็ช่วยซึมซับเหงื่อ ใส่แล้วไม่อบ ไม่ร้อน ส่วนข้อเสียก็อาจจะมีแค่เรื่องยับง่าย และเมื่อใส่ซักไปนานๆ แล้ว ผ้าก็จะย้วย

“ทุกคนรู้จักผ้าฝ้ายกันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าอธิบายลึกลงไป ผ้าฝ้ายเชียงใหม่ก็จะมีความต่างจากผ้าฝ้ายของกรุงเทพฯไปอีกค่ะ เพราะมีความนุ่มและหนากว่า รีดง่ายกว่า และด้วยความที่ผ้ามันหดตัวเวลาซัก เส้นใยจึงยิ่งยึดเกาะกันแน่นเข้าไปอีก พอเราเอามาทำเป็นหน้ากาก มันก็จะยิ่งปกป้องดีขึ้นไปอีกชั้น ยิ่งซัก เส้นใยก็ยิ่งรัดแน่นกัน แต่คุณสมบัติของมันที่ระบายอากาศได้ดีในตัวอยู่แล้ว มันก็เลยใส่แล้วไม่อึดอัด เหงื่อไม่ไหล ไม่อับชื้น นอกจากนี้สำหรับคนที่สวมแว่นตา เวลาใส่หน้ากากอนามัยปกติจะชอบมีฝ้าขึ้นแว่น แต่ถ้าเป็นหน้ากากผ้าฝ้าย ลมและความชื้นที่จะทำให้เกิดฝ้ามันจะถูกระบายออกไปหมดแล้ว ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องนี้เลยค่ะ” คุณแฟนต้าอธิบายข้อดีของผ้าฝ้ายเชียงใหม่

ปั่นฝ้าย
การปั่นฝ้ายด้วยอุปกรณ์ดั้งเดิมของชาวบ้าน

“อีกปัญหาหนึ่งของการสวมใส่หน้ากากผ้าทั่วไป คือบางคนอาจจะคัน เพราะว่ามันจะมีขนเล็กๆ อยู่ที่ผ้า พี่ก็เลยสั่งโรงงานให้เผาขนอีกรอบหนึ่ง จากนั้นพอชาวบ้านย้อมสีเรียบร้อย ก็จะส่งโรงงานเพื่อซักและอบความร้อนอีก 2-3 รอบ เป็นการฆ่าเชื้อโรคไปในตัว และยังช่วยทั้งในเรื่องสีตกและเรื่องการหดของผ้าด้วย ให้มันหดให้เต็มที่ไปเลย แล้วค่อยเอามาตัดและเย็บ” โดยเฉพาะผ้าย้อมครามและไม่ได้ผ่านการฟิกซ์สีจากเคมี แต่เป็นการฟิกซ์ด้วยเกลือและน้ำส้มสายชู การผ่านกระบวนการซักจากทางร้านมาก่อนหลายๆ รอบ จะทำให้เวลาลูกค้าซื้อไป สีอาจจะตกอีกแค่นิดหน่อยในการซักน้ำที่ 1 หรือ 2 เท่านั้น

ย้อมคราม

ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการทดลองย้อมสีโทนใหม่ๆ

“ชาวบ้านเขาสนุกกับการทดลองย้อมสี และพี่ก็ให้อิสระเขาในเรื่องนี้ด้วย อย่างสีน้ำตาลไหม้ก็ได้จากการที่เขาเอาน้ำหินผสมกับปูน แล้วก็ยังมีการย้อมสีจากหินโมคคัลลาน ซึ่งเป็นหินที่มีอยู่ในชุมชน นำมาย้อมผ้าด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นอกเหนือไปจากความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระบวนการที่เป็นธรรมชาติเหล่านี้ก็ยังดีต่อสุขภาพของช่างทอ ช่างย้อมด้วย ชาวบ้านไม่เป็นภูมิแพ้ และที่สำคัญลูกค้าที่ซื้อหน้ากากอนามัยไปสวมใส่ สูดหายใจเข้าไป ก็ไม่เป็นอันตราย

ตอนนี้ในโปรเจ็กต์ Mom’s มีช่างทออยู่ 5 คน ช่างย้อม 3 คน และช่างเย็บ 14 คน จาก 3 หมู่บ้านในเชียงใหม่ ได้แก่ อำเภอจอมทอง อำเภอดอยหล่อ และอำเภอสันป่าตอง โดยมีการทำโปรดักต์ออกมา 2 อย่าง คือ หน้ากากอนามัย และหมวก

“มันเป็นการช่วยชุมชนไปด้วยค่ะ และในเวลาแค่ 2 เดือนที่ทำมา เราวางขายในเพจอย่างเดียว แต่ขายได้เดือนละเป็นล้านเลยนะ ชาวบ้านก็งงกับพี่” เธอหัวเราะ “มีโรงงานติดต่อจะมาเย็บให้เหมือนกันนะคะ แต่เราอยากให้ชาวบ้านเย็บมากกว่า และเราก็ชอบในความเป็นงานทำมือ ซึ่งแม้จะมีจำนวนไม่เยอะ แต่เราคุมคุณภาพให้ได้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เราเน้นกับชาวบ้านไปว่าขอสวยๆ ไม่ต้องรีบ เย็บได้เท่าไร ก็ขายตามนั้น” และด้วยความเป็นงานทำมือ หากลูกค้ารับสินค้าไปแล้วไม่ชอบ สามารถติดต่อทางเพจกลับมาภายใน 3 วัน ทางร้านก็จะมีข้อเสนอให้ลูกค้าเลือกสินค้าชิ้นใหม่ได้ หรือคืนเงินให้ ภายใต้เงื่อนไขว่ายังไม่ได้ใช้สินค้าที่ซื้อไป

ความหลงใหลงานผ้าทอมือ

“เสน่ห์ของผ้าทอมือก็คือ ผ้าแต่ละม้วนสีไม่เหมือนกัน ย้อมต่างฤดูกัน สีก็ออกมาไม่เหมือนกัน แต่ละชิ้นก็เลยมีเอกลักษณ์ของมัน พี่เองเป็นคนที่ชอบผ้าทออยู่แล้ว เสื้อพี่บางตัวเป็นงานทอของชาวเขา รอตั้ง 6 เดือนก็มี แต่เอาตรงๆ เลย ใส่แล้วมันสวย มีแต่คนมอง” เธอหัวเราะ “มีกางเกงตัวหนึ่งที่ทำจากผ้าใยกัญชง พี่ใส่ไปเดินพารากอน ใส่ขึ้นเครื่องบิน ก็มีแต่คนถาม เพราะว่ามันสวยจริงๆ และไม่เหมือนใคร”

ปั่นด้าย
หมวกผ้าฝ้ายเชียงใหม่
หมวกผ้าฝ้าย
สเก็ตช์แพตเทิร์นลายหน้ากากผ้า
สมุดสเก็ตช์แบบและแพตเทิร์นลายบนหมวกและหน้ากากผ้า

ความสวยที่ว่าอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากลวดลายที่มองเห็นอย่างเดียว แต่เป็นเพราะวิธีการทำที่ยั่งยืน ไม่ทำร้ายธรรมชาติ และความตั้งใจของคนในชุมชน จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ความสวยมันเปล่งประกายออกมา ยิ่งในวันที่โลกเราถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีไปเสียทุกอย่างด้วยแล้ว หากจะมีบางอย่างที่ขับเคลื่อนไปด้วยใจและสองมือบ้าง มันคงช่วยดึงเรากลับไปสู่ความงามดั้งเดิมใน ‘ความเป็นมนุษย์’ ได้ไม่น้อย

หน้ากากผ้าฝ้ายเชียงใหม่ Mom’s วางขายทางเพจเฟสบุ๊ก > Mom’s เท่านั้น หรือติดต่อสอบถามได้ที่ 083-091-4436

Leave a Reply