สัตว์เลี้ยงคืออีกหนึ่งความรื่นรมย์และความสุขง่ายๆ ใกล้ตัว โดยเฉพาะตั้งแต่เข้าสู่ช่วงโรคระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา บ้านที่มีสัตว์เลี้ยงทำให้เราไม่เหงาเกินไป และเมื่อหลายคนมีเวลาว่างมากขึ้น จึงหาโอกาสพาหมาแมวเที่ยว ทั้งพาจูงเดินเล่นอยู่แถวบ้าน หรือนั่งรถไปเที่ยวตามสถานที่ใกล้ๆ บ่อยขึ้น เห็นได้จากโรงแรมหรือร้านอาหารไหนที่ชูจุดขายความเป็น pet-friendly ช่วงนี้ก็จะฮอตมากเลยทีเดียว

Koffee Park ร้านกาแฟย่านเลียบทางด่วนประชาอุทิศ-สุขสวัสดิ์ที่เป็น pet-friendly

ลาวีอองโร้ดเองก็พาน้องหมาน้องแมวไป staycation อยู่บ่อยๆ ซึ่งต้องบอกว่าการพาสัตว์เลี้ยงออกนอกสถานที่นั้นไม่ง่าย แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เราเพียงต้องรู้วิธีการดูแลอย่างถูกต้องในเรื่องสุขภาพ และเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ไปให้ครบ ทั้งเสื้อผ้า แผ่นรองขับถ่าย สายจูง ฯลฯ เพื่อให้เขาเอนจอยไปกับเรา และไม่เครียดเมื่อต้องไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นชิน

อ่านเพิ่มเติม > ทริป staycation ในกรุงเทพฯ พร้อมสัตว์เลี้ยง

ส่วนที่เป็น pet hotel ของโรงพยาบาลสัตว์ศิริเวช รับดูแลฝากเลี้ยง

วันนี้เราพาน้องหมาสองตัว โชแปงกับมะพร้าว มาตรวจสุขภาพแบบเบสิคและอาบน้ำตัดขนที่โรงพยาบาลสัตว์ศิริเวช สาขาสุขสวัสดิ์ และได้พบว่าที่นี่นอกจากจะให้บริการดูแลรักษาโรคโดยทั่วไปของสัตว์เลี้ยงแล้ว ก็ยังเป็นโรงพยาบาลสัตว์ที่เหมาะกับเจ้าของที่เป็นนักเดินทางด้วย เพราะมีส่วนที่เป็น pet hotel หรือที่พักสำหรับสัตว์เลี้ยง ช่วยดูแลให้เวลาเจ้าของไปทริป หรือแม้แต่เจ้าของที่อยากพาน้องๆ เดินทางไปด้วยกัน เขาก็มีบริการดูแลและให้คำแนะนำอย่างดีเยี่ยม เรียกได้ว่าอินเทรนด์และเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ชอบเลี้ยงสัตว์มากๆ

โชแปงกับมะพร้าว มารับบริการอาบน้ำตัดขน

สาเหตุที่เรามาที่นี่เพราะเป็นโรงพยาบาลสัตว์เปิดใหม่ใกล้บ้าน (เปิดเมื่อเดือนมีนาคม 2564) อยู่ในย่านสุขสวัสดิ์ มีคุณหมอประจำอยู่ 5 ท่านจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ น.สพ.กิตติศักดิ์ ชายสมสกุล (หมอเอ็ม), น.สพ.ภคพล ฟู่เจริญ (หมอปิง) ปริญญาโทจาก University of Lincoln ประเทศอังกฤษ สาขาพฤติกรรมสัตว์, สพ.ญ. นภสร (หมอปุ้ม), น.สพ.สิรภพ จึงธนสมบูรณ์ (หมอภพ) และน.สพ.ดร.เอกพล อัครพุทธพร (หมอพล) ปริญญาเอกจาก Hokkaido University ประเทศญี่ปุ่น สาขาศัลยกรรม

ให้บริการอะไรบ้าง

โรงพยาบาลสัตว์ศิริเวช สุขสวัสดิ์ ให้บริการรักษาสัตว์ทั้งด้านอายุรกรรมและศัลยกรรม อย่างทำหมัน ขูดหินปูน ฝังเข็ม รวมถึงบริการอาบน้ำตัดขนและฝากเลี้ยง แต่จุดเด่นจะเป็นด้านศัลยกรรม ทั้งศัลยกรรมกระดูกและศัลยกรรมเนื้ออ่อน โดยเฉพาะการผ่าตัดทำหมัน เนื่องจากคุณหมอที่ก่อตั้งเป็นผู้มีประสบการณ์และจบการศึกษาปริญญาเอกในด้านนี้โดยตรง และยังเป็นคลินิกพฤติกรรมสัตว์ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศค่อนข้างได้รับความนิยม ในการให้คำแนะนำกับเจ้าของสัตว์เลี้ยง เกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงทั้งในด้านบวกและด้านไม่พึงประสงค์

อย่างที่เราสังเกตว่าที่เมืองนอกนั้น เขาสามารถพาสัตว์เลี้ยงเดินทางขึ้นรถไฟใต้ดิน รถเมล์ เดินตามท้องถนน หรือแม้แต่ยืนรอเจ้าของหน้าซูเปอร์มาร์เก็ตกันเป็นเรื่องปกติมาก นั่นก็มาจากการศึกษาพฤติกรรมสัตว์และฝึกเขาให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมมนุษย์ได้ เวลาเจ้าของพาไปเที่ยวก็จะแทบไม่มีปัญหาเลย ซึ่งคุณหมอปิงก็มีประสบการณ์ด้านนี้โดยตรง ด้วยดีกรีปริญญาโทจากประเทศอังกฤษ

ห้องทำหัตถการของโรงพยาบาลสัตว์ศิริเวช

“การเลี้ยงสัตว์จริงๆ แล้วควรเริ่มต้นจากความรักความเอาใจใส่ เปรียบเขาเหมือนสมาชิกในครอบครัวเลยครับ ไม่ใช่เพียงแค่ให้น้ำ ให้อาหารอย่างเดียว แต่ไม่มีกิจกรรมอื่น เช่น พาเดินเล่น เล่นของเล่น กับเขาเลย เพราะเขาอาจจะเกิดความเบื่อแล้วหาวิธีระบายความเบื่อในรูปแบบอื่นๆ ทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมบางอย่างที่อาจจะกระทบต่อความสัมพันธ์กับเจ้าของ ทรัพย์สินในบ้าน หรืออาจทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมาก็ได้ การเลี้ยงดูใกล้ชิดจะทำให้เรารู้ว่าเขาชอบ/ไม่ชอบอะไร เราจะได้หลีกเลี่ยงถูก ไม่งั้นเขาก็อาจจะมีชีวิตอยู่กับเราด้วยความเครียดหรือความกลัว” หมอปิงเล่าให้ฟังในขณะที่เราพาเจ้าโชแปงมารับบริการอาบน้ำตัดขน หลังจากไปเที่ยวกันมา เนื้อตัวมอมแมมทีเดียว

อาบน้ำ-ตัดขนน้องหมาน้องแมว เตรียมพร้อมพาเที่ยว

“ทุกเคสที่เดินเข้ามาครั้งแรก ทางโรงพยาบาลจะสอบถามเจ้าของก่อนเลยว่านิสัยของน้องแต่ละตัวเป็นอย่างไรบ้าง ก้าวร้าว ขี้กลัวแค่ไหน เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรของโรงพยาบาลและต่อผู้เลี้ยงเอง หากเผชิญหน้ากับสุนัขหรือแมวที่อาจจะโจมตีเราได้ก็อาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยในการจับบังคับเพื่อตรวจรักษา

“ในส่วนของการอาบน้ำ ทางเราก็จะถามผู้เลี้ยงก่อนว่าน้องแต่ละตัวเคยอาบน้ำมาก่อนไหม กลัวน้ำหรือกลัวไดร์เป่าขนหรือไม่ แน่นอนว่าก่อนอาบจริง เราก็จะทดสอบ ลองให้สัตว์ตัวนั้นได้สัมผัสกับเสียงหรือแรงลมของไดร์เป่าขนก่อนว่ารับได้หรือเปล่า หากเราประเมินแล้วว่าสัตว์ตัวนั้นไม่น่าจะสามารถรับมือได้ก็จะแจ้งกลับไปยังเจ้าของ เพื่อลดความเครียดที่เขามีให้ได้มากและเร็วที่สุด

แชมพูที่ทางโรงพยาบาลใช้จะเป็นสูตรอ่อนโยนและกลิ่นธรรมชาติอย่างเบอร์รี่และมะพร้าว

“ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่สัตว์ตัวนั้นยอมให้ทำที่บ้านก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะยอมให้ทำที่โรงพยาบาลนะครับ เพราะอย่าลืมว่าโรงพยาบาลเป็นสถานที่แปลกใหม่สำหรับเขา มีทั้งกลิ่น เสียงแปลกใหม่ไปหมด ไม่แปลกเลยที่จะทำให้เขาเกิดความตื่นเต้น ตกใจได้อยู่แล้ว

“วิธีการที่ง่ายที่สุดที่ทำให้สัตว์แต่ละตัวเกิดความรู้สึกคุ้นเคย คุ้นชินกับโรงพยาบาลนั่นก็คือ พาเขามาบ่อยๆ ครับ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียตังค์นะ เพียงแค่พามาเจอบรรยากาศในโรงพยาบาล หรือเจ้าของอาจจะมาพูดคุยสอบถามทั่วไปกับคุณหมอก็ได้ครับ แล้วติดขนมมาสักเล็กน้อย ให้เขาเกิดความรู้สึกดีกับสถานที่นี้ก็เพียงพอแล้ว ไม่งั้นแล้วถ้าทุกครั้งที่พามาโรงพยาบาลมีแต่เรื่องเจ็บตัว เรื่องการตรวจรักษา ก็ไม่แปลกที่เค้าจะรู้สึกไม่ดีกับสถานที่นี้” หมอปิงอธิบาย

ต้องพาหมาแมวมาหาคุณหมอบ่อยแค่ไหน

การเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยง เราสามารถสังเกตได้ง่ายๆ จากพฤติกรรมหรือกิจกรรมในชีวิตประจำวัน คุณหมอปิงแนะนำว่า “ถ้าอยู่ๆ วันหนึ่งสัตว์เลี้ยงก็ไม่กินน้ำหรืออาหาร(หรือกินเยอะผิดปกติ) ท้องเสีย อาเจียน เก็บเนื้อเก็บตัวไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ก็ให้พึงระวังไว้ว่าเขาอาจจะมีความเจ็บป่วยใดๆ หรือไม่ เพื่อความสบายใจก็ควรพาเขามาพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาได้ทันทีตั้งแต่อาการยังไม่รุนแรง แต่ถึงเขาจะไม่ได้มีความผิดปกติเลย ก็ควรพามาพบคุณหมออย่างน้อยปีละ 1ครั้ง อาจจะเจาะเลือดหรือไม่ก็ได้ อย่างน้อยก็เพื่อป้องกันหรือแจ้งโอกาสที่อาจจะมีปัญหาได้ในอนาคต เพื่อสุขภาพของตัวสัตว์เอง และเพื่อลดค่าใช้จ่ายของเจ้าของที่ต้องรับผิดชอบ ถ้าหากว่าสัตว์ตัวนั้นมีความผิดปกติที่รุนแรงหรือเรื้อรังนั่นเอง”

จะเห็นได้ว่าการเป็นสัตวแพทย์นั้น นอกจากจะต้องมีความรู้ตามหลักวิชาการและมีความรอบคอบแล้วนั้น ยังต้องมีความเข้าอกเข้าใจ (empathy) ต่อความคิดและความรู้สึกของเจ้าของสัตว์เลี้ยงด้วย เพราะจะต้องให้ทั้งคำอธิบายในการรักษาและคำแนะนำที่ดี ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงทุกตัว

“งานของเราต้องอยู่กับน้องหมาน้องแมวที่มีชีวิตจริงๆ ถ้าผิดพลาดหรือประมาทเพียงเล็กน้อย มันก็ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเขาเลย สัตวแพทย์ที่ดีจึงต้องหมั่นทบทวนความรู้วิชาการ และต้องทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงได้เข้าใจและสบายใจในโรคต่างๆ ที่เกิดกับสัตว์ เขาจะได้ดูแลรักษาน้องที่บ้านไปด้วยอย่างถูกวิธี” หมอเอ็มเสริม

จากคนที่มีสุนัขอยู่ในบ้านมาตลอดทั้งชีวิต กลายมาเป็นสัตวแพทย์ที่ดูแลสัตว์ด้วยหัวใจ

“สำหรับหมอปุ้มเอง ที่บ้านเลี้ยงสุนัขมาตลอดนะคะ จริงๆ แล้วตอนเด็กกลัวสุนัขมากด้วย เพราะที่บ้านเลี้ยงพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด ตัวใหญ่มาก และน้องก็ดุกับคนแปลกหน้า เคยกัดคนเวลาหลุดออกไปนอกบ้าน แล้วก็ขย้ำสิ่งมีชีวิตแปลกหน้าที่เข้ามาในบ้าน ตอนเราสัก 4 ขวบก็เคยโดนน้องกระโดดใส่ทีนึง หัวโขกกำแพง เลยทำให้กลัวสุนัขไปเลย จนกระทั่งพอสัก 8 ขวบ ได้ดูสารคดี Animal Planet ไม่ก็ Discovery รายการที่ดูประจำ ดูทุกตอนคือ The Crocodile Hunter ดู Steve Irwin เล่นกับจระเข้ทุกวัน เลยรู้สึกว่าจระเข้ยังเล่นได้เลย เราเลยลองไปเล่นกับสุนัขตัวเองดู แล้วกลายเป็นสนิทกัน หลังจากนั้นพอได้ดูหนังหรือรายการต่างๆ ที่เกี่ยวกับสัตว์ ก็รู้สึกมีแรงบันดาลใจอยากทำงานเป็นสัตวแพทย์ตั้งแต่ตอนประถมเลย เพื่อนๆ ที่โรงเรียนทุกคนจะรู้ว่าเราจะเข้าคณะสัตวแพทย์เท่านั้น ไม่เคยคิดไปเรียนอย่างอื่น ตัวเราเองซึ่งเป็นคนพาสุนัขที่บ้านไปหาหมอมาจนเข้ามหาวิทยาลัย บอกเลยว่าเจอสัตวแพทย์มาทุกแบบแล้วค่ะ แล้วหมอก็ได้เลือกแล้วว่าอยากเป็นสัตวแพทย์แบบไหนที่ตัวเราในอดีตเจอแล้วจะสบายใจที่สุด” หมอปุ้มเล่าถึงความรักสัตว์และแพสชั่นในอาชีพ

ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข เมื่อเราคือโลกทั้งใบของสัตว์เลี้ยง

“หมอขอเล่าในมุมมองของคนที่ในช่วงชีวิตตั้งแต่เกิดมาไม่เคยขาดสุนัขเลย มีสุนัขอยู่ในบ้านตลอด การมีสัตว์เลี้ยงช่วยลดความเครียดของเราได้มากค่ะ เวลากลับมาจากเรียนหรือทำงานเหนื่อยๆ อาจจะหมดแรง อารมณ์ไม่ดี หรือผิดหวังจากอะไรบางอย่างมา แต่พอเจอเด็กๆ วิ่งเข้ามาทักทาย เราจะยิ้ม หัวเราะ และทักทายเขาด้วยเสียงสองสามสี่แบบอัตโนมัติ การได้รับพลังงานบวกจากน้องๆ ที่รอต้อนรับเรากลับมา ช่วยให้เราหายเหนื่อยได้มาก พลังงานเหล่านั้นคือ unconditional love ของจริง” หมอปุ้มแชร์ประสบการณ์

“สัตว์เลี้ยงรู้จักเราดีกว่าที่เราคิดมากค่ะ บางทีหมอยังคิดว่าเขารู้จักเราดีกว่าที่เรารู้จักตัวเองด้วยซ้ำ เขาสามารถจดจำภาษากายของเราได้แทบทุกอย่าง ไม่ว่าเราจะทำอะไร ขยับไปไหน เขาจะคอยแอบมองเราอยู่ตลอด และแน่นอนว่าเขาสามารถรับรู้อารมณ์ของเราได้ หมอก็เคยมีประสบการณ์ที่ไปนั่งร้องไห้กับน้องหมาที่บ้าน สิ่งที่น้องทำก็คือนั่งอยู่ข้างๆ เรา ไม่ทิ้งเราไปไหน เขาสัมผัสได้ว่าภาษากายของเราแบบนี้เขาจะต้องทำตัวแบบไหน ซึ่งเด็ก ๆ แต่ละคนจะแสดงออกไม่เหมือนกันนะคะ บางตัวถ้าเห็นเจ้าของร้องไห้ อาจจะเดินหนีไปแบบงงๆ ก็ได้” เธอหัวเราะ

หลังจากอาบน้ำ-ตัดขนเจ้าโชแปงเสร็จแล้วในวันนั้น คุณหมอยังตัดเล็บ ดูสุขภาพช่องปากและฟันอีกนิดหน่อย แล้วก็เล่นกับน้องให้เขารู้สึกคลายเครียด ก่อนจะให้คำแนะนำทั้งสำหรับการอยู่บ้านและการเดินทางในทริปถัดไป และนี่คือความสุขง่ายๆ ของหมาแมวนักเดินทาง

โรงพยาบาลสัตว์ศิริเวช

119/23 ถนนสุขสวัสดิ์ บางพึ่ง พระประแดง สมุทรปราการ 10130
https://goo.gl/maps/TRFf1oFYVgq959Hp7

เปิดบริการทุกวัน 08.00-20.00 น.

Line: @sirivet (มี @)
Facebook: โรงพยาบาลสัตว์ศิริเวช Sirivet Animal Hospital

โทร. 083-504-2105

Leave a Reply