1. เช็คเรทรายวันของร้านรับแลกเงินหลายๆ แห่ง ทุกครั้งที่คิดจะแลกเงิน ใช้อินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ค่ะ ไล่เช็คเรทร้านแลกเงินสัก 3-4 ร้าน เพราะแต่ละร้านจะเรทไม่เท่ากัน ถึงแม้จะต่างกันอยู่แค่หลักสตางค์ แต่ถ้าเราแลกจำนวนเงินเยอะๆ ก็มีผลมากเหมือนกัน
ร้านเรทดีๆ ที่เราใช้เป็นประจำก็มี Superrich สีเขียวหรือสีส้ม สาขาราชดำริ ฝั่งตรงข้ามเซ็นทรัลเวิลด์ และสาขาสีลม ปัจจุบันมีขยายสาขาอยู่ตามพารากอนและสถานีรถไฟฟ้าด้วย เพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น (ส่วนมากแล้ว Superrich สีเขียวจะเรทดีกว่าสีส้ม แต่มักมีสาขาน้อยกว่า
ดังนั้นอย่าลืมดูเรื่องการเดินทางด้วย ถ้าต่างกันอยู่แค่นิดหน่อย บวกค่ารถไปแล้วอาจจะไม่คุ้ม), Siam Exchange ใกล้กับหอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC) และ BTS สนามกีฬาแห่งชาติ, Vasu Exchange ใกล้ BTS นานา ทางออกที่ 1, X One สุรวงศ์, Money Gooroo มี 5 สาขา ได้แก่ พาลาเดียม, ประตูน้ำ, ใบหยก ติดธนาคารธนชาต, สีลม หน้าโรงแรมสยามเฮอริเทจ และพัฒน์พงศ์ ใครสะดวกที่ไหนก็ไปตรงนั้นเลย
2. แลกเงินที่บูธชั้นใต้ดินสนามบินสุวรรณภูมิ สำหรับไฟลท์ที่ออกที่สนามบินสุวรรณภูมิ แนะนำให้ลงไปแลกเงินที่บูธแลกเงินชั้นใต้ดิน (เช็คอินกระเป๋าเสร็จแล้วกดลิฟต์ลงไปชั้น B) ตรงบริเวณที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ จะมีบูธของ Superich สีเขียว สีส้ม และยี่ห้ออื่นๆ อีกมากมาย เรทถูกกว่าเคาน์เตอร์แลกเงินของธนาคารที่ชั้นผู้โดยสารขาออก
3. ใช้บัตร TMB All Free อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เราจับจ่ายอย่างสะดวกในต่างประเทศโดยไม่ต้องพกเงินสดเยอะให้เสี่ยงต่อการถูกขโมย ก็คือการพกบัตรเครดิตหรือเดบิต แต่ปกติแล้วบัตรเครดิตของธนาคารทั่วไปจะบวกอัตราความเสี่ยงในการแปลงสกุลเงิน 2.5% ของอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละวัน
แต่สำหรับบัตร TMB All Free ของธนาคาร TMB นี่เหมือนพกร้านแลกเงินติดตัวไปด้วยทุกที่ในโลก เพราะสามารถรูดใช้จ่ายในต่างประเทศ โดยไม่บวกค่าความเสี่ยงเหมือนกับบัตรเครดิตโดยทั่วไป ซึ่งเอาจริงๆ เรทเพียวๆ ของธนาคาร มันถูกกว่าเรทตามร้านแลกเงินด้วยซ้ำ และในบางเมืองยังสามารถใช้แทนตั๋วรถไฟได้เลย แค่ตึ๊ดบัตร โดยไม่ต้องไปยืนต่อแถวซื้อตั๋ว
นอกจากนี้หากต้องการใช้เงินสดจริงๆ การใช้บัตร TMB All Free ไปกดที่ตู้เอทีเอ็มต่างประเทศ ก็เสียค่าธรรมเนียมถูกสุดแค่ 75 บาท ในขณะที่บัตรเดบิตอื่นๆ จะเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 100 บาท ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
4. แลกเป็น US Dollar ก่อนแล้วค่อยแลกสกุลเงินท้องถิ่น ในบางประเทศ ถ้าเราแลกเงินจากบาทไปเป็น US Dollar ก่อน แล้วจึงเอาดอลลาร์ไปแลกสกุลเงินท้องถิ่นอีกที บางครั้งมันคุ้มค่ากว่า ไม่เชื่อลองคำนวณเงินกีบ (LAK) ของลาว และเงินวอน (KRW) ของเกาหลีใต้ดูสิ ว่าแลกจากบาทโดยตรง หรือแลกจากดอลลาร์จะคุ้มกว่ากัน
5. เที่ยวจบแล้วอย่าเพิ่งแลกคืนทันที ถ้าแลกเงินต่างประเทศเสร็จแล้วจบทริปกลับบ้านมาใช้ไม่หมด อย่าเพิ่งแลกคืนเป็นเงินบาทโดยทันที เพราะเราจะขาดทุน เนื่องจากเรทที่ร้านแลกเงินรับซื้อและขายจะไม่เท่ากัน ซึ่งโดยปกติเรทรับซื้อก็จะต่ำกว่าเรทตอนขายอยู่แล้ว ดังนั้นให้รอเวลาสักพัก แล้วลองเช็คอัตราแลกเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ เมื่อเห็นว่าเป็นเรทที่ไม่ขาดทุนแล้วค่อยแลกคืน