การเดินเล่น Phuket Old Town เที่ยวชมตึกชิโน-โปรตุกีส เป็นอีกหนึ่งมุมไฮไลท์ในการเที่ยวภูเก็ตนอกเหนือไปจากรีสอร์ทสวยริมทะเล สำหรับคนที่ชอบประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปะ ภูเก็ตถือว่าเป็นสถานที่ที่ยังคงมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เรียกว่าเปอรานากันไว้ได้อย่างดีเยี่ยม ความพิเศษของทริปนี้จึงเป็นการพาไปเที่ยวย่านเมืองเก่า แล้วก็แวะเข้าไปเยือนถึงบ้านเก่าอายุกว่าร้อยปีอย่าง ‘บ้านชินประชา’ ซึ่งเป็นตึกชิโน-โปรตุกีสแห่งแรกของภูเก็ตเลยทีเดียว
เปอรานากันคือกลุ่มคนที่มีเชื้อสายจีน-มลายู อพยพเข้ามาอยู่ทางภาคใต้ตอนล่างของไทยและสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ ส่วนใหญ่จะกระจายตัวกันอยู่ที่ภูเก็ต พังงา ที่คนไทยมักรู้จักแพร่หลายว่า บาบ๋า ย่าหยา พวกเขามีวิถีชีวิต วัฒนธรรม อาหารการกิน การแต่งกาย ศิลปะ เป็นของตัวเอง การเดินสำรวจย่านเมืองเก่านี้ จึงทำให้เราได้พบเห็นสิ่งต่างๆ ที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ และกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมร่วมสมัย
หลายคนชอบมาเดินเที่ยวถ่ายรูปกับตึกชิโน-โปรตุกีสสีสันสวยๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้ถึงที่มาที่ไป ว่าจริงๆ แล้วมันคือสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่งที่ผสมผสานระหว่างจีนกับตะวันตก ในยุคที่คนจีนอพยพเข้ามาอยู่ที่นี่ ลักษณะเป็นตึกแถว มีประตูหน้าเป็นบานเฟี้ยม แล้วก็เจาะช่องหน้าต่างกับมีการใช้ลวดลายปูนปั้นแบบอาร์ตเดโค ช่วงเสาจะกว้างเท่ากับตึก 2 คูหารวมกัน ซึ่งหลายๆ ตึกก็นำมาทำเป็นอาคารราชการ อาคารสาธารณะ ไปจนถึงโฮสเทล ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ และบ้างก็เป็นพิพิธภัณฑ์
โรงแรมในภูเก็ตที่ออกแบบด้วยแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมของเปอรานากัน >
- The Little Nyonya บูติกโฮเต็ลสุดชิคสไตล์ชิโนโคโลเนียลกลางเมืองภูเก็ต
- Four Points by Sheraton Phuket ฟีลใหม่ของการพักที่หาดป่าตองแบบอาร์ตแอนด์คัลเจอร์
5 สถานที่สวยๆ ในตึกชิโน-โปรตุกีส ย่านเมืองเก่าภูเก็ต
1. บ้านชินประชา
บ้านหลังแรกในภูเก็ตที่สร้างขึ้นตามแบบสไตล์ชิโน-โปรตุกีสก็คือ บ้านชินประชาของพระพิทักษ์ ชินประชา นายเหมืองต้นตระกูลตัณฑวนิช ตั้งอยู่ที่ถนนกระบี่ สร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ในปีพ.ศ. 2446 กลายเป็นต้นแบบของบ้านคหบดีจีนที่กระจายอยู่ทั่วทั้งเมืองภูเก็ต
เราเดินเข้าซอยเล็กๆ เข้ามายังบ้าน 2 ชั้นหลังนี้ ก่อนจะทักทายเจ้าของบ้านที่ออกมาต้อนรับด้วยตัวเองและเชื้อเชิญให้เราถอดรองเท้าเพื่อเข้าไปในตัวบ้าน ซึ่งยังมีการอนุรักษ์ตัวอาคารและเครื่องเรือนเครื่องใช้ต่างๆ เอาไว้อย่างดี เรียกว่าเป็นการบอกเล่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวภูเก็ตในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี
ประตูบ้านมีอักษรจีนลงรักปิดทอง และมีธรณีประตูอยู่ทุกบาน เจ้าของบ้านเตือนให้เราก้าวเท้าอย่างระมัดระวังและพาเราชมทีละห้องอย่างน่าสนุก สิ่งที่เราชอบก็คือกลางบ้านมีสระน้ำเล็กๆ มีดอกไม้สีสันสดใสลอยอยู่ พร้อมกับปลาคาร์ฟตัวใหญ่แหวกว่ายไปมา ซึ่งเป็นความเชื่อที่เป็นสิริมงคลของชาวจีน ขณะที่พื้นกระเบื้องในบ้านเป็นของอิตาลี บันไดไม้มีลวดลายสวยงาม โต๊ะเก้าอี้ส่วนใหญ่ก็เป็นไม้ฝังมุกที่นำมาจากเมืองจีน และวัสดุหลายๆ อย่างก็มาจากต่างประเทศเนื่องจากสมัยก่อนมีการค้าขายทางเรือผ่านเกาะปีนังมายังภูเก็ต ไม่แปลกใจเลยที่เราเห็นชุดโต๊ะทานข้าวที่มีผ้าปูลวดลายเก๋ๆ กับลายแกะสลักอันชดช้อยที่เก้าอี้ ซึ่งแมตช์กับพื้นกระเบื้อง
ปัจจุบันบ้านหลังนี้ก็ยังคงมีลูกหลานรุ่นที่ 6 ของตระกูลที่ยังคงพักอาศัยอยู่ ทำให้การพาเดินชมและเล่าเรื่องราวในอดีตนั้นดูมีชีวิต เหมือนกับเราได้ย้อนไปในยุคนั้นจริงๆ เราได้เห็นเตียงนอนโบราณห้องนอน ได้เห็นข้าวของเครื่องใช้ในห้องครัวอย่างหม้อทำขนม ปิ่นโต แล้วก็ภาพถ่ายแห่งความทรงจำที่เป็นเหตุการณ์สำคัญต่างๆ อย่างงานแต่งงานที่ทำให้เราได้เห็นชุดพื้นเมืองแบบบาบ๋า ย่าหยาจริงๆ ซึ่งเขาก็มีบริการเช่าชุดสำหรับให้เราได้ถ่ายรูปกันในบ้านชินประชาได้เลย
เสน่ห์อยู่ตรงที่ความละเมียดละไมในทุกส่วนของการตกแต่งของบ้าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความมีฐานะของเจ้าของบ้าน รสนิยมทางศิลปะ และความเห็นคุณค่าในมรดกทางวัฒนธรรม เพราะแม้แต่รูปถ่ายทุกรูปก็เป็นของจริง เป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงๆ เรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความเรียลสุดๆ
บ้านชินประชา
ตั้งอยู่ที่ถนนกระบี่ จังหวัดภูเก็ต
เปิดวันจันทร์-เสาร์ เวลา 8.00-16.00น. ค่าเข้าชม 100 บาท และสำหรับชาวต่างชาติ 150 บาท
076-211-281 และ 076-211-167
————————————-
2. สตรีทอาร์ต ภูเก็ต
สตรีทอาร์ตจุดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่มีการเปิดตัวแคมเปญ F.A.T Phuket หรือ Food Art Old Town ซึ่งเป็นการเชิญศิลปินสายสตรีท 12 คน มาสร้างสรรค์ผลงานร่วมสมัยโดยผสมผสานองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ทางวัฒนธรรมของเปอรานากัน อย่างเช่น อาหารในประเพณีงานแต่งงาน วัฒนธรรมโกปี้หรือกาแฟ เทศกาลเจ ฯลฯ กระจายตัวอยู่ในหลายๆ จุดของเมืองเก่าภูเก็ต
ผลงานที่เห็นอยู่ในภาพนี้อยู่บริเวณกำแพงข้างปากซอยรมณีย์ โดยจะมีน้อง Mardi ตัวการ์ตูนซิกเนเจอร์ของ Alex Face (พัชรพล แตงรื่น) ซึ่งมาในรูปแบบขนมเต่าสีแดง เป็นขนมมงคลในเทศกาลพ้อต่อ มีความหมายถึงการมีอายุยืน และฝั่งขวาคือผลงานของ Rukkit (รักกิจ ควรหาเวช) เป็นรูปนกอินทรีย์ที่แฝงไว้ด้วยสีสันของขนมวัยเด็กอย่างกูลิโกะและดังกิ้นโดนัท
————————————-
3. พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว
ตึกแห่งนี้เคยเป็นโรงเรียนจีนที่เก่าแก่ที่สุดในภูเก็ต ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สองชั้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากที่ภูเก็ตในยุคที่เหมืองแร่กำลังขยายตัวและเฟื่องฟู
เปิดทุกวัน 9.00-17.00น.
076-211-224
————————————-
4. Torry’s Ice Cream
ร้านไอศกรีมโฮมเมดแบบพรีเมียมใจกลางย่าน Phuket Old Town บนถนนถลาง ตั้งอยู่ภายในตึกเก่าที่เคยเป็นสำนักพิมพ์ผลิตแผ่นพับภาษาอังกฤษชื่อ Art and Culture ที่รวบรวมเรื่องงานศิลปะในภูเก็ตมานับ 10 ปี เป็นอีกหนึ่งตึกที่เป็นแบบชิโน-โปรตุกีสสีชมพูสวย ด้านในตกแต่งแบบวินเทจ ใช้โต๊ะเก้าอี้ไม้ เช่นเดียวกับเคาน์เตอร์บาร์ไอศกรีมก็ทำจากไม้ ประดับด้วยแชนเดอเลียร์หรูหรา
เมนูขนมหวานที่เป็นซิกเนเจอร์ที่สุดคือ Bi-Co-Moi หรือ ‘บิโกหมอย’ ขนมชื่อแปลกที่เราต้องถามพนักงานซ้ำอีกครั้งว่าชื่ออะไรนะคะ!? และพนักงานก็อธิบายว่ามันเป็นข้าวเหนียวดำของชาวพื้นเมืองภูเก็ตที่ขึ้นชื่อมากๆ นอกจากนี้ยังมีมิลค์โฟลทติ้ง ไอศกรีมนมปั่นเสิร์ฟมาในแก้วสูง รสชาตินมเข้มข้น แล้วก็ไอศกรีมน้ำเต้าหู้หอมงาดำที่ดีต่อสุขภาพ ต่อด้วยครัวซองต์ไอศกรีมที่จะสามารถทานเป็นเบรกฟาสต์ได้อย่างสดชื่น ไปจนถึงมาการองแสนหวานซึ่งไม่ว่าใครได้ลองก็ต้องติดใจ
ร้านตั้งอยู่ที่ซอยรมณีย์ ถนนถลาง เมืองเก่าภูเก็ต
Facebook: torryicecream
เปิดทุกวัน 11.00-18.00น. โทร 09-4995-9496
——————————————–
5. ร้านหนัง (สือ) ๒๕๒๑
ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างร้านหนังสือกับคาเฟ่บาร์สุดชิคในบรรยากาศวินเทจ ที่เราจะแวะมาทุกครั้งที่มาภูเก็ต นอกจากมีหนังสือดีๆ ให้อ่านแล้วก็ยังมีแผ่นหนังหลายเรื่องที่เจ้าของร้านคัดมาเองกับมือ โดยจะมีหนังนอกกระแสหลากหลายสัญชาติหมุนเวียนกันมาให้ได้ชมกันที่บริเวณชั้น 2 อยู่เรื่อยๆ
โซนบาร์กาแฟที่คั่นอยู่ตรงกลาง ส่งกลิ่นกาแฟหอมๆ มาสร้างความผ่อนคลาย พร้อมกับขนมหลากหลายชนิดให้เราเลือกทานได้ในราคาไม่แรง เสริมเสน่ห์ด้วยเฟอร์นิเจอร์ภายในร้านที่สื่อถึงกลิ่นอายของสิ่งพิมพ์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะโต๊ะวินเทจที่ดัดแปลงมาจากลิ้นชักที่ใส่ตัวเรียงพิมพ์สมัยโบราณ
ร้านหนัง (สือ) ๒๕๒๑ ถนนถลาง ใกล้กับซอยรมณีย์
เปิดวันจันทร์-ศุกร์ 9.00-19.00 / เสาร์-อาทิตย์ 9.00-20.30น.