Sabaidee New Year Luang Prabang
Text: Anya Wan
Photos: Jarareab
การเดินทางกับความรักมีความคล้ายกันอยู่มาก
การเดินทางเริ่มต้นจากความรู้สึกอยากไปเห็น อยากไปสัมผัส ในที่ที่เราไม่เคยไป แม้จะเคยมีคนไปมาก่อน แต่คำเล่าลือก็ไม่ได้การันตีว่าเมื่อเราไปเยือนด้วยตัวเองแล้ว ความรู้สึกจะเป็นแบบนั้น มันอาจจะดีกว่า สนุกกว่า หรือแย่กว่า ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน เหมือนเวลาเราเจอคนที่ชอบแล้วอยากทำความรู้จัก เราก็ไม่มีทางรู้ลึกถึงตัวตน แม้จะเคยถามไถ่คนสนิทของเขา แต่สุดท้ายก็คือเราที่ต้องเรียนรู้เอง เพราะความสัมพันธ์ระหว่างคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่งไม่มีอะไรตายตัว อย่างที่เราเองปฏิบัติต่อคนคนหนึ่ง ก็ไม่เคยเหมือนอีกคนหนึ่ง ดังนั้นทุกการเดินทางและความรักจึงต้องเริ่มต้นจากความเสี่ยง และอย่างที่เรารู้…มันไม่มีอะไรราบรื่นไปทั้งหมด ทุกอย่างล้วนปะปนไปด้วยความรู้สึกนานาไม่ว่าสุขหรือทุกข์
ฉันไม่คาดหวังสิ่งใดกับทริปนี้ รู้แค่ว่าอยากไปหลวงพระบาง และมีคนไปด้วยกันก็ดีแล้ว ถึงแม้จะเป็นคนแปลกหน้า
ทริปนี้ฉันแพลนไปวังเวียงก่อน 2 คืน แล้วต่อด้วยหลวงพระบางอีก 3 คืน การนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯไปลงอุดรฯ จึงเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด เพราะเราสามารถนั่งรถบัสจากสถานีขนส่งยิงตรงเข้าวังเวียงได้เลย นับเป็นวิธีที่ประหยัดที่สุดด้วย ค่าตั๋วแค่ 320 บาท แต่ความท้าทายก็คือ จะมีรถเส้นทางนี้วันละ 1 รอบเท่านั้น โดยรถจะออกตอน 8.30น. ถ้าพลาดรอบนี้ไป ก็จะต้องเปลี่ยนไปนั่งสายอุดร-เวียงจันทน์ แล้วค่อยต่อจากเวียงจันทน์ไปวังเวียงอีกที ซึ่งก็จะใช้เวลามากขึ้นไปอีก
เช้าตรู่วันนั้น เครื่องบินมาถึงอุดรฯอย่างราบรื่น แต่ที่ไม่ราบรื่นก็คือเพื่อนร่วมทริปแปลกหน้าของฉันเพิ่งรู้ตัวว่าลืมกระเป๋าเดินทางไว้ที่ดอนเมือง เราจึงต้องติดต่อสายการบินให้เขาช่วยติดตามกระเป๋า นั่งรออยู่พักใหญ่จนกระทั่งพนักงานเดินมาบอกว่าเจอกระเป๋าแล้ว และจะถูกส่งมาให้พร้อมกับไฟลท์ถัดไป แต่ไฟลท์ถัดไปที่ว่านั้นคือตอนเย็น…
ฉันมองหน้าคนแปลกหน้าโดยไม่พูดอะไร เราทั้งคู่ก็รู้ได้เองว่าไปวังเวียงไม่ทันคืนนี้แน่ๆ และตอนนั้นมันง่ายมากที่เราจะระเบิดอารมณ์เสียๆ ใส่กัน แต่ก็ไม่ได้มีใครทำแบบนั้น ไม่มีใครโทษใคร สิ่งที่เราทำคือหาที่พักในอุดรฯคืนนี้ และแคนเซิลที่พักที่วังเวียงไป 1 คืน จากที่ต้องรีบ ก็กลายเป็นว่าเราต้องหาอะไรทำฆ่าเวลาเพื่อรอกระเป๋ามาตอนเย็น เราขอยืมจักรยานของโรงแรมปั่นออกไปหาร้านอาหารดีๆ แถวนั้น ทั้งๆ ที่อากาศเดือนเมษาแผดเผาจนหลังเราแทบไหม้ แถมจักรยานก็เหมือนจะยางแบนอีก แต่ตอนนั้นมันคือเรื่องตลกสำหรับเรา
เช้าวันต่อมา เจ้าของโรงแรมขับรถมาส่งเราที่ขนส่งอุดรฯ ด้วยตัวเอง เพราะยังเช้าเกินเวลาทำงานของคนขับรถ แต่มันก็ยังเช้าไม่พอเพราะเคาน์เตอร์ขายตั๋วอุดรฯ-วังเวียงปิดแล้ว ตั๋วเต็ม เราแทบกรี๊ดเมื่อรู้ว่าถ้ายังยืนยันจะไปกับรถรอบนี้ เราต้องซื้อตั๋วสำหรับเก้าอี้เสริม (ลักษณะเป็นเก้าอี้พลาสติกแบบที่เราไว้นั่งกินก๋วยเตี๋ยว) ตั้งไว้ให้นั่งระหว่างทางเดินบนรถ
หน้าตารถบัสเหมือนรถทัวร์ปกติ เขียนด้านหน้าว่า ‘รถโดยสารระหว่างประเทศ’ (Thai-Lao Internatinal Bus) จากอุดรฯจะมาจอดแวะรับผู้โดยสารเพิ่มที่หนองคายตอนประมาณ 10.00น. ใครจะมาขึ้นรถที่บขส.หนองคายก็ได้ ค่าตั๋วจะเหลือแค่ 270 บาท เมื่อรถบัสวิ่งผ่านด่านชายแดนไทย-ลาว เราต้องถือพาสปอร์ตลงไปทำพิธีตรวจคนเข้าเมืองซึ่งมีจุดแลกเงินด้วย ฉันยื่นไป 4,000 บาท ได้กลับมาร่วมล้านกีบ ยัดกระเป๋าสตางค์จนอ้วน
ระยะทางจากอุดรธานีไปถึงวังเวียงจริงๆ แล้วประมาณ 234 กิโลเมตร ถ้าขับรถไปเองใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง แต่สำหรับรถบัสจะมีจอดแวะพักเป็นระยะ แถมคันที่เรานั่งนี่เดี๋ยวพัก เดี๋ยวพัก ทั้งกินข้าว แวะซื้อของฝาก เข้าห้องน้ำ กว่าจะไปถึงวังเวียงก็เล่นเอาเกือบเย็น รวมกว่า 7 ชั่วโมงได้ แล้วประเด็นคือเรานั่งเก้าอี้พลาสติกที่ไม่มีพนักพิงไง มันพร้อมจะปริแตกทุกครั้งที่รถเลี้ยวแล้วเราทิ้งน้ำหนักทรงตัวไม่ดี ซึ่งวันนั้นก็มีหญิงอ้วนคนหนึ่งทำเก้าอี้แตกให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้วด้วย T-T
เรามาถึง Vang Vieng Bus Terminal ในตอนเย็นด้วยสภาพสุดเพลีย ทั้งง่วงทั้งปวดหลัง ก่อนจะต่อรถมินิบัสเข้าไปยังตัวเมืองวังเวียง ซึ่งตรงนี้เขาไม่เก็บค่ารถ สภาพบ้านเมืองที่นั่นเงียบสงบเหมือนต่างจังหวัดบ้านเรา มองไปไกลๆ เห็นภูเขาและแม่น้ำซองที่เป็นแม่น้ำสายหลักของที่นี่ ฝรั่งที่เดินอยู่แถวนี้ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นสายปาร์ตี้ เพราะวังเวียงมีกิจกรรมแอดเวนเจอร์ให้ทำหลายอย่าง ตั้งแต่ล่องห่วงยางไปตามแม่น้ำซอง เข้าไปดูธรรมชาติในถ้ำจัง โดดสระบลูลากูน และอีกอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของวังเวียงเลยก็คือการขึ้นบอลลูนชมทิวทัศน์ ซึ่งมีวันละ 3 รอบ แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง คนละประมาณ 2,100 บาท โดยมีรถมารับถึงโรงแรม แน่นอนว่าอย่างเรา…ไม่ยอมเสียตังค์แน่ๆ ก็เลยเลือกแค่ล่องห่วงยาง ไปเล่นน้ำในแอ่งลำธารหน้าถ้ำจัง แล้วก็เดินเล่นที่งานวัดตอนกลางคืน แต่มันก็สนุกมากนะ
ทริปวังเวียงจบไปแบบรีบๆ ก็ถึงเวลาที่เราต้องนั่งรถตู้ต่อไปยังหลวงพระบางด้วยเส้นทางที่เพิ่งมีข่าวให้ระวังอันตรายจากเหตุรุนแรงเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ แต่ถึงแม้ในช่วงปีที่แล้วที่เราไปยังไม่มีข่าว ความขรุขระและคดเคี้ยวแบบหักศอกของถนนบนภูเขา รวมถึงข้างทางที่มีซากรถคว่ำเป็นระยะๆ ก็ไม่ได้ทำให้เราหายใจหายคอได้เต็มปอดนัก ยิ่งพอตกเย็นความมืดเข้าปกคลุม ยิ่งน่ากลัวขึ้นอีกเท่าตัว ฉันภาวนาให้ปลอดภัยถึงที่หมายเร็วๆ และคิดในใจว่าโชคดีแล้วที่วันขากลับเราเลือกจองเครื่องบิน Bangkok Airways จากหลวงพระบางตรงไปกรุงเทพฯเลย เพราะมันไม่ใช่เรื่องตลกที่เราจะต้องมานั่งอัดอยู่ในรถตู้กว่า 6 ชั่วโมงเหมือนตอนนี้อีก และแน่นอนว่าด้วยความเหวี่ยงของรถ ผู้โดยสารหลายคนถึงกับอาเจียน รวมถึงฉัน (ที่มีคนแปลกหน้าคอยดูแล)
แต่ความสวยของหลวงพระบางตั้งแต่แวบแรกที่ก้าวลงจากรถก็ทำให้เราหายเหนื่อยสมกับเป็นเมืองมรดกโลก อากาศที่นี่ถึงแม้จะเป็นเดือนเมษาแต่ตอนกลางคืนก็รู้สึกเย็นดี ฉันกับคนแปลกหน้ามาถึงที่นี่สามทุ่มกว่าและดีใจที่เจอเตียงนุ่มๆ ในห้องพักสวยๆ ที่พักของเราอยู่ในเมือง จึงไปไหนมาไหนสะดวกด้วยการเดิน เพราะตัวเมืองหลวงพระบางไม่ได้กว้างใหญ่นัก แถวๆ นั้นมีทั้งร้านกาแฟโจมา ร้านอาหารฝรั่งเศส ร้านอาหารลาวแท้ๆ ถนนคนเดิน ตลาดขายของพื้นเมือง และวัดวาอาราม
บรรยากาศงานบุญวันสงกรานต์ของลาวครึกครื้นมาก ฉันเริ่มต้นสงกรานต์ปีนั้นด้วยการตักบาตรข้าวเหนียวในตอนเช้า ซึ่งจะมีแม่ค้ามาคอยขายทุกอย่างให้เราครบ ทั้งข้าวเหนียว ขนมลูกอม และเสื่อสำหรับนั่งรอพระสงฆ์และคุกเข่าขณะใส่บาตร
จากนั้นเราไปวัดเชียงทองซึ่งเป็นวัดที่สวยที่สุดในหลวงพระบาง และที่พลาดไม่ได้คือการไปไหว้พระธาตุจอมสีที่วัดพระธาตุภูสี ตั้งอยู่บนภูเขาขนาดย่อมใจกลางเมืองหลวงพระบาง ซึ่งว่ากันว่าเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุด จากด้านบนสามารถมองลงมาเห็นหลวงพระบางเกือบทั้งเมือง และแม่น้ำโขง แม่น้ำคาน ด้วยวิวแบบ 360 องศา แต่กว่าจะขึ้นไปได้ก็ทำเอาเหนื่อยไม่ใช่เล่นกับบันไดประมาณ 328 ขั้น
ตอนสายๆ วัยรุ่นที่นั่นเริ่มตั้งกลุ่มแก๊งสาดน้ำ ฉันกับคนแปลกหน้าซื้อปืนฉีดน้ำคนละอันไว้เป็นอาวุธแล้วก็ออกเดิน เราโดนสาดตั้งแต่หน้าปากซอยโรงแรม ที่หลวงพระบางเปิดเพลงตื๊ดๆ คล้ายที่เมืองไทย แต่เขาเล่นกันสุภาพเรียบร้อยกว่ามาก ไม่มีการประแป้งที่ใช้ดินสอพองแบบบ้านเรา แต่จะเป็นเขม่าก้นหม้อสีดำมามอมหน้ากันเล็กๆ น้อยๆ วันนั้นฉันพูด “สบายดีปีใหม่” กับ “ขอบใจ๋” เป็นสิบๆ รอบจนเริ่มติดสำเนียงลาว กระทั่งราวๆ 4-5 โมงเย็น ทุกคนก็เริ่มแยกย้าย และมื้อเย็นของฉันก็จบที่ร้านอาหารลาวซึ่งเขาตกปลาจากแม่น้ำโขงมาย่างให้กินแบบสดๆ ก่อนไปนั่งฟังเพลงจิบไวน์ที่ร้านฝรั่งเศสใกล้ๆ และนั่งมองดูคนเดินผ่านไปผ่านมาตอนกลางคืนแบบเพลินๆ
สำหรับฉัน หลวงพระบางกลายเป็นเมืองโรแมนติกที่สุด ยิ่งกว่าซาลส์บูร์ก ฮาลสตัดท์ ของออสเตรีย หรือแม้แต่ปารีสด้วยซ้ำ ที่นี่ผสมผสานระหว่างความดั้งเดิมและร่วมสมัยไว้ได้ลงตัว ด้วยความที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เราจึงได้เห็นสถานที่ราชการ รวมไปถึงป้ายถนน มีชื่อภาษาฝรั่งเศสกำกับไว้คู่กับภาษาลาว ขณะที่วัฒนธรรมท้องถิ่นของลาวเองก็ยังไม่หายไป ที่ตลาดพื้นเมืองของลาวมีผ้าทอสวยๆ และเครื่องประดับย้อนยุคมากมาย อาหารการกินก็มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะส้มตำซึ่งเผ็ดมากถึงมากที่สุด ขนมปังฝรั่งเศสวางขายคู่กับของปิ้งย่าง ส่วนผู้คนดูใจดี และยังใส่ผ้าซิ่น พวกเขาใช้ชีวิตเนิบช้า แบบที่เราหาไม่ได้ในกรุงเทพฯ มันช่วยเติมเต็มให้ทริปนี้จบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง
ไม่ใช่แค่วิวสวยๆ และวิถีชีวิตของหลวงพระบางหรอก แต่คนแปลกหน้าก็มีส่วนทำให้ทริปนี้กลายเป็นทริปที่น่าจดจำที่สุดทริปหนึ่ง การมีเขาอยู่คอยสร้างปัญหาและร่วมแก้ปัญหากลับทำให้ฉันมีความสุขมากกว่าตอนเที่ยวคนเดียว ความขลุกขลักในระหว่างทางไม่ได้ทำให้ความสุขที่ปลายทางน้อยลง มันอาจมีสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจเราบ้าง แต่ทุกอย่างจะไม่แย่เกินไปถ้าเรารู้จักหันด้านที่ดีและความคิดที่ดีเข้ารับมือ ไม่มีการเดินทางครั้งไหนที่เราสามารถทำตามแผนได้หมดทุกข้อ ขึ้นอยู่กับว่าเรายังจำได้อยู่ไหมว่าเหตุผลที่เลือกเดินทางมายังสถานที่นั้นเพราะอะไร และพร้อมจะยังแก้ปัญหาและเรียนรู้ต่อไปหรือเปล่า เพราะทุกการเดินทางทำให้เราเติบโตขึ้นเสมอ
ในวันสุดท้ายของทริป คนแปลกหน้าไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับฉันแล้ว การเดินทางกับความรักมีความคล้ายกันจริงๆ
Travel Tips
- บขส. เส้นทางอุดรธานี – หนองคาย – วังเวียง: เที่ยวไป 8.30น. (เปิดขายตั๋วตั้งแต่ 7 โมง ควรรีบไปรอให้เร็วที่สุด เพราะมีแค่วันละรอบเท่านั้น) เดินทางผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาวแห่งที่ 1 ค่าโดยสาร 320 บาท ระยะทาง 234 กิโลเมตร ถ้าขับรถเองโดยไม่แวะพักเลยจะใช้เวลาประมาณ4ชั่วโมง
- รถบัสจากวังเวียงไปหลวงพระบางใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง และควรซื้อของกินติดไปด้วย
- ค่าใช้จ่ายกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ บูลลากูน 40 บาท ถ้ำจัง 65 บาท ค่าเช่าห่วงยาง 200 บาท
- อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ250 กีบ = 1 บาท
- ไฮไลท์ของงานสงกรานต์ที่หลวงพระบาง ได้แก่ วันที่ 12-13 เมษายน ช่วง 7 โมงเช้า จะมีช้างมาร่วมเฉลิมฉลองที่วัดใหม่ (หน้าวัดเชียงทอง) // วันที่ 16 เมษายนซึ่งชาวลาวถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่จริงๆ ผู้คนจะไปร่วมกันตักบาตรที่หน้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ และจะแต่งตัวสวยงามพร้อมดอกไม้ขึ้นไปสักการะพระธาตุภูสี // วันที่ 17 เมษายน มีพิธีสรงน้ำพระบาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ที่หอพระบาง
- ภาษาลาวที่ได้ใช้แน่ๆ ได้แก่ สบายดี=สวัสดี, ขอบใจหลายๆ=ขอบคุณมาก, ข่อย=ฉัน, อ้าย=พี่, โฮงแฮม=โรงแรม, น้ำของ=น้ำโขง, ท่อดูด=หลอดดูด, ซาว=ยี่สิบ
- และที่งงมากๆ ก็คือ จอก=แก้วน้ำ, แก้ว=ขวด, กะละมัง=ชาม, ชาม=ถ้วย