แมลงปอบินต่ำ เขาว่ากันว่าฝนจะตก
นั่นแหละ…คือสิ่งแรกที่เราเห็นเมื่อมาถึงสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงรายในช่วงหน้าฝน อาจด้วยว่ามีความชื้นในอากาศสูงมาก ทำให้ปีกแมลงปอซึ่งเป็นแบบกึ่งโปร่งแสง พอโดนความชื้นปีกก็เลยหนักจนต้องบินต่ำหรือเกาะตามกิ่งไม้
ทริปนี้เราเช่ารถเพื่อความสะดวกสบาย เริ่มด้วยการขับมุ่งหน้าไปเชียงของ อำเภอเล็กๆ ของเชียงรายซึ่งตั้งอยู่ชายแดนเหนือสุดของไทย ติดกับสปป.ลาวโดยมีแม่น้ำโขงกางกั้น
“เชียงของ…อำเภอที่มีคนบอกว่าสวยที่สุดในหน้าฝน”
เราเห็นด้วยตั้งแต่เริ่มขับออกจากตัวเมืองเชียงรายแล้ว เพราะผ่านสองข้างทางเป็นทุ่งนาเขียวชอุ่มตลอด เขียวอ่อนบ้าง แก่บ้าง ไล่เฉดกันสนุก เนื่องจากเป็นฤดูที่เขาดำนากัน ก่อนที่ข้าวจะออกรวงในช่วงปลายฝนต้นหนาวแล้วนาทั้งผืนจะเปลี่ยนเป็นสีทองสวยไปอีกแบบ
“ความปริ่มเต็มของน้ำโขงฤดูนี้สร้างความสดชื่นได้เมื่อมองเห็น”
เช่นเดียวกับต้นไม้เขียวครึ้มของฝั่งลาว ซึ่งตรงกับเขตของเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว วิวทิวทัศน์ที่สวยงามบนเส้นทางเลียบแม่น้ำโขงนี้ จึงเหมาะแก่การขับรถอย่างยิ่ง
เชียงของเป็นเมืองเล็กๆ เงียบสงบ พวกฝรั่งแบ็กแพ็กจะชอบใช้เป็นเส้นทางผ่านก่อนนั่งเรือไปหลวงพระบาง ที่นี่มีชื่อเสียงที่สุดเรื่องผ้าทอ มรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาวไทลื้อที่อาศัยอยู่ในสองหมู่บ้านใหญ่ๆ ได้แก่ บ้านศรีดอนชัย โดดเด่นการทอผ้าลายน้ำไหล และบ้านหาดบ้ายที่โดดเด่นการทอผ้าลายยกดอก
เราแวะบ้านศรีดอนชัยเป็นที่แรก กับ ‘พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ’ ที่ให้เราได้เข้าใจที่มาที่ไปและวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทลื้ออย่างลึกซึ้ง
ด้านหลังของพิพิธภัณฑ์เป็นร้านกาแฟชื่อ ‘ซังวา’ (ภาษาไทลื้อแปลว่า ‘อะไร’) มีวิวทุ่งข้าวสีเขียวกว้างขวางสุดลูกหูลูกตา สามารถสั่งชาหรือกาแฟร้อนมาจิบแล้วนั่งดูฝนปรอยๆ รดใส่ต้นข้าวได้อย่างเพลิดเพลิน
“เพราะวิวทุ่งข้าวนี่แหละทำให้ซังวาคาเฟ่เป็นร้านกาแฟที่สวยที่สุดในหน้าฝน”
บ่ายคล้อย เราขับรถเลียบตามแม่น้ำโขงต่อไปเรื่อยๆ จนมาสุดขอบอีกทิศหนึ่งของอำเภอเชียงของ เป็นที่ตั้งของบ้านหาดบ้าย เข้าไปถึงก็เจอคุณป้า คุณย่า คุณยาย นั่งทอผ้ากันอยู่อย่างขะมักเขม้น คุณยายคนที่นั่งปั่นด้ายอยู่อธิบายว่า “ฝ้ายปั่นมือคือการเอาดอกฝ้ายมาตีฟูแล้วปั่นออกเป็นเส้นฝ้าย เพื่อมาทอเป็นลวดลายและสีสันตามต้องการ” ก่อนจะแนะให้เราขึ้นไปดูพิพิธภัณฑ์เล็กๆ บนชั้นสองของบ้าน
“สาวๆ ไทลื้อ ใครจะแต่งงานต้องทอผ้าปูที่นอนเองนะ” คุณป้าอีกท่านเล่าให้ฟังขณะพาชมห้องนอนของไทลื้อ ซึ่งจัดแสดงตำราหนังสืออายุกว่าร้อยปี หยิบดูต้องเบามือสุดฤทธิ์ ไม่งั้นกระดาษขาดแน่ ต่อด้วยผ้าทอโบราณที่เก็บไว้อย่างดีในตู้ และผ้าทอใหม่ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดต่างๆ แต่ถ้าสนใจอยากซื้อกลับไปเป็นที่ระลึก เชิญไปช้อปที่ห้องด้านล่างเลยค่ะ
วันต่อมา ฝนตกพรำๆ แต่เช้า
วันนี้มีไอหมอกจางๆ ล่องลอยอยู่เหนือต้นไม้และหุบเขา เป็นไอฝนเย็นๆ ฉ่ำๆ ที่ต่างจากไอหมอกยะเยือกในหน้าหนาว
เราขับรถเปิดกระจกมาหยุดที่ ‘ม่อนโลโล’ หรือ ‘ดอยแสนใจพัฒนา’ อีกหนึ่งสต็อปหน้าฝนที่เราพลาดไม่ได้ ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่สลองใน ถ้าเข้ามายืนในเขตหมู่บ้านตรงที่สูงๆ ก็จะเห็นเหมือนกับว่าที่นี่อยู่ตรงกลางระหว่างดอยตุงกับดอยแม่สลอง เป็นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าอาข่า มีชื่อเสียงมากในเรื่องของการนำพืชพรรณมาทำยาสมุนไพร และแน่นอนว่า
“หน้าฝนคือฤดูที่ดอยแสนใจมีพืชพรรณครบสูตร อุดมสมบูรณ์ และหลากหลายที่สุด”
เราติดต่อพี่อาทู่มาก่อนว่าจะขอแวะเข้ามาชมที่นี่ พี่อาทู่เป็นผู้นำชุมชนอาข่าที่ทั้งเก่งและใจดี สามารถพูดภาษาไทย ภาษาอาข่า และสปีกอิงลิชได้สำเนียงชัดแจ๋ว ให้คำแนะนำเราในทุกอย่างเกี่ยวกับอาข่าที่เราอยากรู้ บ้านของพี่อาทู่บนดอยนี้ นอกจากทำเป็นโฮมสเตย์แล้ว หลักๆ ยังเป็นศูนย์สุขภาพทางเลือก และใช้เป็นสถานที่จัดประชุมของหมอพื้นบ้านด้วย
พี่อาทู่ต้อนรับเราด้วยน้ำมะขามสดๆ รสชาติเข้มข้นที่เก็บจากในสวน มาพร้อมกับผลไม้บ้านๆ แบบอาข่า เรียกว่า มะเดื่อเครือ รสอมเปรี้ยวหวาน และมะแฟน รสเปรี้ยวฝาด จิ้มเกลืออร่อยดี แต่ที่เราตื่นเต้นกันมากก็คือหนอนไม้ไผ่ พี่อาทู่แค่กะเทาะไม้ไผ่เบาๆ หนอนสีขาวตัวเล็กก็ออกมากองยั้วะเยี้ยะในกระจาด ตอนแรกเหมือนจะมีแค่ไม่กี่ตัว แต่ยิ่งกะเทาะอีก ก็ออกมาอีก ตกใจสิคะถามได้… แต่เขาบอกว่าเป็นหนอนสะอาด เพราะอยู่กับพืช และเดี๋ยวอีกไม่นานก็เติบโตไปเป็นผีเสื้อ มีเยอะมากในหน้าฝน ชาวอาข่าเองนิยมเอาไปทอดหรือยำ ซึ่งถ้าเอาไปขายนะ ราคาก็อยู่ที่โลละ 800 บาททีเดียว
กดฟังเสียง “สวัสดี” ในภาษาอาข่า ได้ที่นี่
ชีวิตของชาวอาข่าผูกพันอยู่กับการเกษตรเป็นหลัก ทั้งกิน ทั้งใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค เรียกว่าต้องพึ่งพาธรรมชาติอยู่ตลอด กลางฤดูฝนแบบนี้จึงมีการจัดพิธีโล้ชิงช้า พิธีใหญ่ประจำปีที่มีแค่ปีละ 4 วันเท่านั้น อยู่ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน โดยแต่ละหมู่บ้านจะจัดในช่วงเวลาไม่พร้อมกัน แต่จุดมุ่งหมายเหมือนกันคือเพื่อขอบคุณฝนที่ช่วยให้การเกษตรอุดมสมบูรณ์
พี่อาทู่พาเราลุยป่าซึ่งมีพืชสมุนไพรมากกว่า 206 ชนิด หลายชนิดเจริญเติบโตได้ดีเฉพาะหน้าฝน เช่น บุก, เฟิร์น, อบเชย, มะกล่ำ แก้จุกเสียด, พลับพลึง แก้ปวดหัวเข่า ส่วนขมิ้นชันที่ผลัดใบในหน้าฝนพอดี ก็ทำให้เราได้เก็บแง่นหรือหัวของมันมาใช้ทำเป็นยาได้ นอกจากนี้ก็มีอาคาเยเดาะ หัวไพลหรือปูเลย แดมาร็อกข่า ฯลฯ จริงๆ พี่อาทู่พูดถึงพืชหลายชนิดกว่านี้อีก แต่จำได้แค่นี้ เนื่องจากเป็นภาษาอาข่า ฟังยากมาก แถมปัญหาก็คือยังมีพืชอีกหลายชนิดที่พวกเขาไม่รู้ว่าเรียกเป็นภาษาไทยแบบตรงตัวว่าอะไรกันบ้าง
สมุนไพรเหล่านี้ทั้งหอมและมีประโยชน์มาก พี่อาทู่ชวนชาวอาข่าอีกคนหนึ่งชื่อ “ป้าเพ็ญ” มาช่วยตัด ช่วยทุบ ช่วยบด แล้วเอาสมุนไพรไปต้ม ก่อนที่ไอหอมๆ จะถูกส่งเข้าท่อไปในห้องเล็กๆ ให้เราเข้าไปอบตัวในนั้นสัก 15 นาทีหรือครึ่งชั่วโมงก็แล้วแต่ความอดทน เรียกว่าเป็นสปาอาข่าแบบง่ายๆ ที่ทำให้เรารู้สึกพิเศษมาก เพราะสามารถเลือกสมุนไพรมาผสมให้ตรงกับความต้องการของแต่ละคนได้ ใครอยากผ่อนคลาย ซาวน่า อยากบำรุงผิวพรรณ หรืออยากรักษาโรค ก็จัดได้ตามใจชอบ
ป้าเพ็ญพิสูจน์แล้วว่าการทานอาหารแบบปลอดสารเคมี และการอบสมุนไพรเป็นประจำ ทำให้ป้าเพ็ญยังดูแข็งแรงโดยไม่ต้องพึ่งพายาปฏิชีวนะให้เป็นผลเสียต่อสุขภาพเลย ที่สำคัญหน้าใสและผิวยังมีริ้วรอยน้อยมาก จนเราต้องตกใจเมื่อรู้ว่าป้าเพ็ญอายุเข้าเลข 6 แล้ว พอเห็นอย่างนี้ ตอนที่ได้ทานขันโตกร่วมกับชาวอาข่า เราเลยซัดผักสมุนไพรกันไปแบบเต็มอิ่ม ก็อยากจะเฮลท์ตี้แบบชาวอาข่าบ้าง
คุยกับป้าเพ็ญว่าทำไมผู้หญิงอาข่าต้องตัดเย็บชุดด้วยตัวเอง
ของกินหน้าฝนไม่ได้มีแค่พืชสมุนไพร เพราะวันสุดท้ายที่เราลงมาในตัวเมืองเชียงราย และขับรถผ่านแถวตำบลนางแล
“เราเห็นสับปะรดวางขายอยู่ตามร้านข้างทางเยอะมาก พอจอดแวะถามก็ได้ความว่าเป็นผลไม้หน้าฝน ชื่อพันธุ์สับปะรดภูแลและนางแล”
ลูกเล็กกว่าสับปะรดพันธุ์อื่นๆ แต่เนื้อด้านในสีเหลืองน่ากิน รสชาติหวานฉ่ำ แม่ค้าบอกว่าสับปะรดนางแลจะมีรสชาติดีที่สุดช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และจะมาขาดตลาดช่วงเดือนกันยายน ช่วงนี้เขาก็เลยนิยมกินสับปะรดภูแลกันแทน
สต็อปสุดท้ายในเชียงรายหน้าฝนของเราคือ ‘สิงห์ปาร์ค’ หรือเดิมเรียกว่า ‘ไร่บุญรอด’
“โชคดีที่คืนก่อนหน้าฝนตก เราจึงได้กลิ่นหอมจางๆ ของใบชาในไร่ท่ามกลางลมพัดเย็น”
นับเป็นวันที่อากาศดีมากอีกวันหนึ่ง
สิงห์ปาร์คหน้าฝนสวยไม่แพ้หน้าหนาวเลย เพราะเป็นช่วงที่มีดอกไม้ให้ชมหลายชนิด พืชพันธุ์งอกงามอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นทุ่งข้าว ไร่ชาอู่หลง สวนผลไม้ หรือแปลงผัก ทุกอย่างดูชุ่มฉ่ำและเขียวขจีไปหมด โดยเฉพาะถ้าไปยืนตรงจุดชมวิว 360 องศา จะเห็นภาพมุมกว้างของไร่ชาสีเขียวเข้มรอบทิศ ไล่ลดหลั่นกันลงไปตามขั้นบันได เห็นน้ำในบึงที่ปริ่มเต็มแสนชุ่มฉ่ำ เห็นฝูงห่านแหวกว่าย เห็นฝูงนกบินไปมา
ใครเอาจักรยานมาเอง เอาเข้าไปปั่นฟรีได้เลย ขับง่ายเพราะมี bike lane แยกจากถนนปกติเกือบทุกจุด เลียบไร่ชาและบึงน้ำไปเรื่อย แถมมีวิวเทือกเขาเป็นแบ็กกราวด์ด้านหลัง แต่ถ้าขี้เกียจปั่น จะเล่น Zip line โหนลวดสลิงผ่านไร่ชาลงมา หรือใช้บริการฟาร์มทัวร์หรือรถรางนำเที่ยวของไร่ก็ง่ายดี มีเจ้าหน้าที่คอยบรรยายและแนะนำจุดชมวิวสองข้างทางตลอด โดยรถแต่ละคันจะใช้เวลาทัวร์รอบไร่ประมาณ 1 ชั่วโมง
ก่อนกลับ เราไปอิ่มท้องที่ร้านอาหารภูภิรมย์ ซึ่งนอกจากเมนูซิกเนเจอร์อย่างไก่ย่างภูภิรมย์แล้ว ก็คงเป็นสลัดผัก กับยอดชาสดทอดกรอบนี่แหละที่ช่วยให้เราสามารถตราตรึงรสชาติของหน้าฝนเอาไว้ที่ปลายลิ้น
ใครบอกว่าเที่ยวภาคเหนือหน้าฝนจะลำบาก บอกเลยว่าถ้ามีโอกาสได้มาสัมผัสความชุ่มฉ่ำของเชียงรายหลังฝนตกดูสักครั้ง แสงอาทิตย์สีส้มที่คลอเบาๆ อยู่กับสายรุ้งพาดผ่านบนท้องฟ้ายามเย็น จะหลงรักเชียงรายหน้าฝนจนอยากให้ฝนตกทุกวัน
it very beautiful time on Akha mountain village Saejai chiangrai