“พัทลุงคือเมืองที่ดอกบัวสวยที่สุด” เราคิดว่าอย่างนั้น
ฉันเดินทางมาจังหวัดพัทลุงเป็นครั้งแรกก็ตอนที่อายุขึ้นเลข 3 แล้ว อันที่จริงก็ไม่ได้อยากบอกอายุเท่าไร แต่คิดว่ามันมีผลเหมือนกันต่อความรู้สึกของเราที่มีในแต่ละสถานที่ ถ้าเกิดมาพัทลุงก่อนหน้านี้ ก็อาจจะรู้สึกอีกแบบหนึ่ง
ในวัยผู้ใหญ่ สำหรับคนที่ใช้ชีวิตและทำงานในกรุงเทพฯมาอย่างต่อเนื่องหลายปี พัทลุงกลายเป็นเหมือนสวรรค์แห่งธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ ความเงียบสงบที่หาไม่ได้จากเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ในประเทศไทย มันคือความเนิบช้าที่มีเสน่ห์สุดๆ ฉันได้รับการชาร์จแบตจาก “ความไม่มีอะไรเลย” ของที่นี่
ในวันที่ออกเดินทาง ฟ้าใสสุดๆ จนถ่ายภาพเครื่องบินได้เคลียร์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนที่สนามบินตรัง (สนามบินที่ใกล้ที่สุดสำหรับการมาเยือนพัทลุง) ก่อนจะขับรถผ่านเขาพับผ้าที่สองข้างทางยังทิ้งร่องรอยของฝนที่เพิ่งตกเมื่อคืน เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างพัทลุง-ตรังที่ตัดขึ้นตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้ชื่อว่าเขาพับผ้าก็เพราะมันลาดชันสูงต่ำและคดเคี้ยวไปมาเหมือนการพับผ้า เนื่องจากเป็นการตัดถนนไปตามร่องเขา
ในวันนี้ เส้นทางเขาพับผ้าขับง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะเพราะตัดเป็นถนน 4 เลน บางช่วงบางโค้งเราจะเห็นหมอกลอยต่ำ สวยมากๆ และถ้าวิวเริ่มเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้ ก็แสดงว่าเราเข้าเขตพัทลุงแล้ว เพราะภูเขารูปร่างแปลกประหลาดที่เห็นไกลๆ นั่น คือสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเลยทีเดียว ชื่อว่า “เขาอกทะลุ”
แลนด์มาร์กของพัทลุงคือทะเลน้อย ซึ่งมีบัวและควายน้ำเป็นสัญลักษณ์ สำหรับบัว ต้องมาดูในช่วงเช้า เพราะเป็นเวลาที่มันกำลังเบ่งบาน ส่วนควายก็แล้วแต่อารมณ์ของมัน บางทีมันจะลงมาว่ายน้ำกินบัว แต่บางทีมันก็อยากพักผ่อน ยืนชิลๆ อยู่บนบก
เช้าแรกของการตื่นขึ้นมาในจังหวัดพัทลุง ฉันตื่นก่อนพระอาทิตย์ แล้วนั่งเรือจ้างออกไปตรงแถวคลองปากประ เชื่อมไปสู่ทะเลหลวงของทะเลสาบสงขลา และต้นลำพูที่ยืนตระหง่านอยู่กลางน้ำนั่นก็คือจุดอาบแสงแรกของวันที่โรแมนติกสุดๆ
- ดูรีวิวที่พักใกล้คลองปากประ > Pakpra Lagoon
บริเวณนี้เป็นจุดที่ปลาชุกชุม เราจึงเห็นชาวบ้านจัดวางเครื่องมือจับปลาที่เรียกว่า ‘ยอ’ อยู่เต็มพื้นที่ไปหมด ภูมิปัญญาเก่าแก่ที่ยังคงใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้
เรือพายไปอย่างเงียบๆ ตอนตีห้าครึ่ง ฉันถูกโอบล้อมด้วยทะเลสาบกว้างใหญ่ที่เงียบและกว้าง มันรู้สึกอิสระอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน น้ำนิ่งๆ เรียบๆ แต่มีปลาแหวกว่ายไปมา เป็นวิวที่พาให้ฉันลืมความคับแคบในการนั่งอยู่ภายในรถยนต์บนท้องถนนที่กรุงเทพฯ ฉันรู้สึกได้ถึงลมหายใจของตัวเองที่กำลังสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าไป
หันไปหันมาไม่กี่ครั้ง พระอาทิตย์ก็โผล่ขึ้นมาทักทาย ฟ้าซึ่งเป็นฉากหลังของต้นลำพูเปลี่ยนจากสีฟ้าเข้มเป็นสีฟ้าอ่อน อมส้มระเรื่อ ตรงหน้าฉันคือพระอาทิตย์กลมๆ ที่ลอยเด่นอย่างกับภาพวาด
ลุงพิช คนขับเรือพาเราไปดูทุ่งข้าวออร์กานิกที่ชาวบ้านปลูกไว้กินเอง ชื่อพันธุ์ข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นพันธุ์ท้องถิ่นของพัทลุง ตรงนี้น้ำค่อนข้างตื้น ลุงเขาให้เราลงไปเดินเล่นได้ พอเอาขาจุ่มลงไปก็เจอดินเลนนิ่มๆ อยู่ด้านล่าง ที่ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะมีเศษแก้วหรืออะไรบาดเท้า เพราะมันสะอาดใส ไม่มีขยะสักชิ้น
จุดต่อมา คือการขับเรือมุ่งหน้าสู่ทะเลน้อย และเมื่อเราลอดใต้สะพานแห่งความสุข หรือสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ก็หมายความว่าเราเข้าสู่น่านน้ำของจังหวัดพัทลุงอย่างเป็นทางการ ที่นี่ต้อนรับเราด้วยทะเลบัวกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา บรรยากาศมัน fairy tale มากๆ คำว่า “สวย” อย่างเดียว ไม่พอที่จะบรรยายความสวยของที่นี่
สองข้างทางเราจะเห็นชาวบ้านขับเรือผ่าน พวกเขาออกมาหาปลา หรือบางคนก็อาจจะยืนเหวี่ยงแหอยู่บนฝั่ง ทำไมเรารู้สึกอิจฉาชีวิตของคนที่นี่จัง…
ในตอนบ่าย ฉันเดินทางไปน้ำตกหนานสวรรค์ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานเขาปู่-เขาย่า เป็นแอ่งน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาบรรทัด ลักษณะเป็นแอ่งสีเขียวมรกต เหมือนสระว่ายน้ำที่เกิดจากการออกแบบของธรรมชาติล้วนๆ การได้มาแช่น้ำที่นี่ รู้สึกว่ากำลังอยู่ในสปาส่วนตัว บรรยากาศมันไพรเวทมาก อ่างน้ำใหญ่ๆ แห่งนี้เป็นของเรา
เอกลักษณ์ของพัทลุงอีกอย่างที่พลาดไม่ได้เลยก็คือ งานหัตถกรรมพื้นบ้าน ซึ่งเราแนะนำให้ไปเดินเล่นที่ตลาดหัวลานหัวเลี้ยว เป็นหมู่บ้านชุมชนชาวเลน้อย แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเดินดูวิถีชีวิตชาวบ้านได้ บางบ้านทำประมง กำลังยืนแกะปลาออกจากแห เพื่อมาตากแห้ง และบางบ้านก็กำลังสานกระจูดเพื่อทำเป็นของใช้ต่างๆ เช่น ตะกร้า ของตกแต่งบ้าน เสื่อ กระเป๋า ฯลฯ เหมาะแก่การซื้อเป็นของฝาก
แต่ถ้าอยากหาของกิน “ตลาดสวนไผ่” หรือ “สวนไผ่ขวัญใจ” คือที่ที่ทุกคนควรจะต้องไป เพราะเป็นตลาดที่ขายของออร์กานิก ขายอาหารและขนมพื้นบ้านของพัทลุง โดยทุกร้านจะใช้ภาชนะที่ทำจากธรรมชาติ เช่น หมาจาก ภาชนะใส่น้ำดื่มสมุนไพรที่สานขึ้นโดยมีหูหิ้ว บ้างก็ใช้ปล้องไม้ไผ่ถือแทนแก้ว และบ้างก็ใช้ใบตองทำกระทงใส่อาหาร
นักท่องเที่ยวที่มาเดินตลาดสวนไผ่แห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านท้องถิ่น มากันเป็นครอบครัว เราไม่เห็นฝรั่งเลย ซึ่งรู้สึกดี เพราะมันไม่ดูทัวริสต์เกินไป และมันก็เอื้อต่อการใช้ชีวิตของชุมชนเขาจริงๆ อีกอย่างคือ เราเองซึ่งเป็นคนต่างถิ่น ก็ได้เข้าถึงรสชาติและประสบการณ์แบบท้องถิ่นแบบแท้ๆ
สิ่งที่มันยังไม่ถูกดัดแปลง มันคือเสน่ห์ที่แท้จริง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทำให้เราประทับใจพัทลุง
แสงอาทิตย์ยามเช้า ทะเลสาบกว้างๆ ต้นข้าวที่ปลูกโดยไม่ใช้สารพิษ ภาชนะจากธรรมชาติ และการเข้านอนเร็วแต่หัวค่ำของชาวบ้าน แค่นี้ก็ทำให้พัทลุงกลายเป็นทริปที่น่าจดจำไปอีกนาน….