‘ลำปาง’ เป็นจังหวัดเล็กๆ ที่ใครต่อใครก็เรียกว่าเป็นเมืองสโลวไลฟ์ ด้วยวิถีชีวิตของผู้คนที่เรียบง่ายและกลิ่นอายของอารยธรรมล้านนา นอกจากรถม้าที่แล่นทั่วเมืองแล้ว เสน่ห์อีกอย่างที่โดดเด่นมากๆ ก็คงเป็นตึกเก่าลำปางที่มีกระจายอยู่ทั่ว ผสมผสานทั้งสไตล์ฝรั่ง จีน พม่า และล้านนาได้อย่างลงตัว

เสน่ห์ของตึกเก่าก็คือเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ภายในและการเดินทางผ่านวันเวลา เอาจริงๆ แค่ได้มีโอกาสสักวัน นั่งรถม้าเพื่อสำรวจตึกเก่าหลายๆ แห่งในลำปาง ก็สามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองแบบอัดแน่น ได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดหนังสือเล่มหนาอ่านเลย

รถม้า เอกลักษณ์ของเมืองลำปาง

แต่ก่อนที่จะเราจะเดินทางไปที่นั่น ลาวีอองโร้ดพามาพูดคุยหาข้อมูลของลำปางกันก่อน กับคุณออมสิน-อุดมสิน หาญเมธี นักออกแบบและอดีตผู้สื่อข่าวที่เดินทางกลับบ้านเกิดในจังหวัดลำปาง เพื่อมาเปิดโรงงานเซรามิกและทำตามความฝันในเรื่องของการอนุรักษ์ ปัจจุบันเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า และยังเปิดเพจให้ข้อมูลเกี่ยวกับลำปางมากมาย

เอกลักษณ์ของลำปาง วิถีชีวิตเรียบง่ายที่มีเสน่ห์

“ลำปางเป็นเหมือนแกงจืดที่จืดแต่อร่อย ไม่จี๊ดจ๊าดสะใจเหมือนต้มยำกุ้งแต่หากค่อยๆ สัมผัสจะรู้ว่าเป็นรสชาติที่มีเสน่ห์” คุณออมสินเริ่มอธิบายถึงความหมายของคำว่า ‘Lampangness’

“จริงๆ Lampangness ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องมาสัมผัสเอง แต่ถ้าให้พี่นิยาม พี่ขอใช้คำว่า ‘Charm’ ที่นอกจากจะแปลว่ามีเสน่ห์แล้ว ยังหมายถึงชามตราไก่ที่ขึ้นชื่อของลำปาง ตัวอักษรแต่ละตัวก็แยกออกมาสื่อความหมายได้ ‘C’ คือ ‘Characteristic’ ลำปางมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ‘H’ คือ ‘Heritage’ เพราะเรามีอาคารเก่าแก่มากมาย ‘A’ คือ ‘Artistic’ ศิลปะในลำปางโดดเด่น มีสกุลช่างหลากหลายสกุล ‘R’ คือ ‘Relax’ ลำปางคือเมืองแห่งความผ่อนคลาย ทั้งวันอาจไม่ได้ยินเสียงแตรรถเลยก็ได้ และ ‘M’ คือ ‘Memorize’ ถ้าได้มาแล้วลำปางจะต้องอยู่ในความทรงจำแน่นอน”

การผสมผสานทางวัฒนธรรมของไทย จีน ฝรั่ง พม่า

“ลำปางเป็นเมืองเบ้าหลอมทางวัฒนธรรม ในอดีตธุรกิจเฟื่องฟูมาก มีคนหลายเชื้อชาติเข้ามา นึกภาพดูจะคล้ายๆ เหมืองทองที่มีคนมาแสวงโชค ทั้งจีน ไทย ฝรั่ง พม่า ลำปางเลยมีตึกที่เป็นการมิกซ์แอนด์แมตช์ระหว่างสถาปัตยกรรมหลายเชื้อชาติ

“มีอาคารหนึ่งอยู่ตรงหัวสะพานรัษฏาภิเศก สะพานคอนกรีตแห่งแรกของไทย อายุอาคารเป็นร้อยปี พอๆ กับอายุสะพาน เจ้าของเดิมเขาอายุเยอะมากแล้ว ลูกหลานเลยตัดสินใจขายทิ้ง คนที่ซื้อต่อก็ไม่ได้เห็นคุณค่าตรงนี้เท่าไรก็เลยทุบทิ้ง เลยเกิดกระแสในเมืองลำปางว่าเราเสียดาย แต่เราก็ไม่ได้ทำอะไรก่อนหน้านี้” เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการตัดสินใจเดินหน้างานอนุรักษ์

บ้านหม่องโง่ยซิ่น
บ้านหม่องโง่ยซิ่น ในย่านกาดกองต้า

ตึกแรกที่คุณออมสินยกตัวอย่างของการอนุรักษ์ตึกเก่าคือ ‘บ้านหม่องโง่ยซิ่น’ ในย่านกาดกองต้า ซึ่งปัจจุบันปรับเป็นคาเฟ่ที่เปิดให้คนได้สัมผัสความงามภายในอย่างใกล้ชิด “หม่องโง่ยซิ่นเป็นอาคารพม่า ใช้สไตล์ไม้ฉลุจิงเจอร์เบรดแบบอังกฤษยุควิกตอเรียน แต่ใช้ช่างไหหลำ และมีสไตล์ล้านนาเข้าไปผสม” เขาทำให้เราเห็นภาพของการ ‘มิกซ์แอนด์แมตช์’ ของอาคารในลำปางชัดยิ่งขึ้น

ตึกถัดมาคือ ‘บ้านหลุยส์’ ของหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์นายห้างค้าไม้ชาวอังกฤษ ลูกชายของแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 4 สิ่งที่ทำให้บ้านหลุยส์โดดเด่นไม่ใช่แค่สถาปัตยกรรมที่สวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ยังเป็นเพราะเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ดึงดูดให้ผู้คนอยากลองไปแวะเวียน

บ้านของลูกชายแหม่มแอนนา
บ้านของลูกชายแหม่มแอนนา ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 4

ตึกเก่าอีกแห่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือบ้านพระยาสุเรนทร์ มีอายุตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เต็มไปด้วยกลิ่นอายโคโลเนียลแบบดั้งเดิม ล้อมรอบด้วยสวนสวยแบบยุโรปเดิมบ้านหลังนี้เคยเป็นของพระยาสุเรนทรราชเสนา (เจิม จารุจินดา) ผู้ว่าราชการลำปางในสมัยแรก ชาวลำปางหลายๆ คนต่างก็ต้องยอมรับว่าติดใจในเสน่ห์ของบ้านหลังนี้จนต้องเหลียวมองทุกครั้งที่ผ่าน

บ้านพระยาสุเรนทร์
บ้านพระยาสุเรนทร์ อยู่มาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 5

เครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า และการผันคุณค่าให้เป็นมูลค่า

จากเหตุการณ์ทุบตึกที่สะพานรัษฎานั้น บรรดาคนที่รักบ้านเก่าตึกเก่ารวมทั้งคุณออมสินจึงตัดสินใจร่วมกันก่อตั้ง ‘เครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า’ ขึ้นมาเพื่อเป็นพลังทางสังคมในการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์อาคารเก่า และหลังจากพบว่าปัญหาหลักคือเจ้าของตึกไม่มีเงินทุนในการดูแล คุณออมสินเริ่มเดินทางหาข้อมูลไปตามเมืองเก่าต่างๆ เช่น เมลเบิร์น และเกียวโต เขาพบว่าเอกลักษณ์ของเมืองเหล่านี้คือการผันตัวเป็นเมืองท่องเที่ยวโดยที่ไม่เสียความเป็นตัวเองไป ชาวบ้านยังมีวิถีชีวิตที่ปกติ ในขณะที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มรายได้ได้มากขึ้น และนั่นคือทิศทางที่ลำปางควรจะดำเนินรอยตาม

แนวคิดหลักของคุณออมสินคือ การผันคุณค่าของบ้านให้กลายเป็นมูลค่า’ แปรรูปเสน่ห์ของตึกให้เป็นเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว โดยเขาและเครือข่ายฯเชื่อว่า ควรเริ่มบูรณะบ้านหลุยส์ก่อนเพื่อเป็นต้นแบบ จากนั้นจึงมุ่งกระตุ้นให้เจ้าของตึกเต็มใจและสามารถรักษาตึกเก่าด้วยตัวเองผ่านการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวในลำปางมากขึ้นเพื่อดึงดูดรายได้เข้ามา เจ้าของตึกจะได้มีแรงใจและเงินทุนบำรุงตึกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวด้วยการปรับปรุงตึก เช่น อาจปรับตึกเป็นร้านกาแฟ หรือเปิดให้เข้าชม เท่านี้ก็จะสามารถรักษาตึกเก่าในลำปางให้คงอยู่ต่อไปได้

โครงการผลักดันการท่องเที่ยวที่คุณออมสินกำลังดำเนินการมีหลากหลาย เช่น เพจ เครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่า ที่เน้นให้ข้อมูลเรื่องอาคารเก่าโดยเฉพาะ เว็บไซต์ Happy Lampang บอกเล่าเรื่องราวดีๆ ในลำปาง เพจ Lampang Can Do ให้ข้อมูลโครงการต่างๆ ในลำปาง เป็นต้น

นอกจากนี้คุณออมสินยังพบว่าอุปสรรคของการท่องเที่ยวในลำปางคือสายการเดินรถสองแถวไม่ชัดเจน ต้องอาศัยการโบกและเหมาเอา จึงแก้ปัญหาด้วยการรณรงค์รสร้างสายการเดินรถต้นแบบ และสร้างเพจ สี่ล้อสองแถวแอ่วลำปาง เพื่อให้ข้อมูล ความช่วยเหลือ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเดินทางด้วยรถสองแถวในลำปาง

“เราเริ่มจากเล็กๆ เห็นปัญหาอะไรก็ค่อยๆ แก้ ค่อยๆ ขับเคลื่อนไป เพราะว่าเรามีคนอยู่แค่นี้ อะไรทำได้เลยก็พยายามรีบทำ แบบนี้จะไม่ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลเหมือนหว่านไปทั้งจังหวัด พอสิ่งที่ทำโตขึ้นกลายเป็นตัวอย่างให้คนเห็นว่าแบบนี้ก็ทำได้ เขาก็จะเริ่มอยากทำเอง ช่วยกันคนละไม้คนละมือ”

Leave a Reply