นี่คือการมาจาการ์ตา (Jakarta) ครั้งที่ 3 ของเรา ด้วยจุดประสงค์หลักของการมาเยือนงานอาร์ตแฟร์ Art Jakarta 2022 เทศกาลแสดงผลงานศิลปะนานาชาติของจาการ์ตา แต่เราก็ถือโอกาสนี้มาสำรวจเมืองหลวงอินโดนีเซียหลังการผ่อนคลายมาตรการโรคระบาดไปด้วยเลย ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดก็คือ รถไฟฟ้า (MRT) ที่เพิ่งเปิดให้บริการในกรุงจาการ์ตาเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2019
ทำไมถึงต้องตื่นเต้นกับเรื่องนี้ ก็เพราะจาการ์ตานั้นขึ้นชื่อเรื่องรถติดหนักมากๆ เนื่องจากทุกคนใช้รถยนต์ส่วนตัว รวมถึงมอเตอร์ไซค์ และระบบขนส่งสาธารณะเขาไม่ค่อยเอื้อต่อการเดินทางเท่าไร เมื่อประชากรมาแออัดอยู่ในเซ็นเตอร์ของเมือง รถจึงติดตลอดเวลา ขนาดกรุงเทพฯที่ว่าติดหนักแล้วมันก็ยังมีช่วงที่พอไหลๆ ได้บ้างในชั่วโมงไม่เร่งด่วน แต่สำหรับจาการ์ตา ต้องบอกว่าติดทั้งวันจริงๆ
ที่สนามบินซูการ์โน ฮัตตา เราผ่านพิธีตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) ซึ่งตอนนี้ (August 2022) จะใช้เพียงเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน (แบบเล่มหรือแบบดิจิทัลก็ได้) ยื่นพร้อมพาสปอร์ตและบอร์ดดิ้งพาส คนไทยสามารถเข้ามาเที่ยวในอินโดนีเซียได้เลย ไม่เกิน 30 วัน โดยไม่ต้องขอวีซ่า
นักท่องเที่ยวที่มาจาการ์ตาหรือเมืองอื่นๆ ในอินโดนีเซียก็ตาม จะใช้บริการรถแท็กซี่เป็นส่วนใหญ่ เจ้าดังๆ ก็คือ Blue Bird หรือรถพรีเมียม Silver Bird จากสนามบินเข้าเมืองจะอยู่ที่ราคาประมาณ 1,000 บาท เมื่อเห็น National Monument และ Museum Nasional Indonesia ก็แปลว่าเรามาถึง Central Jakarta แล้ว ก่อนที่รถแท็กซี่จะพาเราเลาะเลี้ยวไปตามซอยเล็กๆ เห็นบ้านเรือนแออัดของผู้คน และโผล่ออกมาที่ถนนใหญ่ ผ่านวงเวียน Indonesian Hotel Circle ที่รายล้อมไปด้วยโรงแรม 5 ดาวอย่าง Grand Hyatt, Pullman, Kempinski, Mandarin Oriental รถติดสุดๆ และมาส่งเราที่โรงแรมที่พักใกล้ห้าง Sarinah Mall ที่เขาบอกว่าเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่สำคัญ ใกล้สถานี MRT ที่ชื่อ Bundarun HI ในระยะเดินได้สะดวก
Art Jakarta 2022 การกลับมาของอาร์ตแฟร์ใหญ่ของอินโดนีเซีย
อาร์ต จาการ์ตา คืองานอาร์ตแฟร์ที่มีเหล่าคอลเลกเตอร์ แกลเลอรี่จากหลายประเทศในเอเชีย และผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะ มารวมตัวกัน จัดขึ้นที่ Jakarta Convention Center (Senayan) เมื่อวันที่ 26-28 สิงหาคม 2022 ถือเป็นการกลับมาครั้งแรกหลังจากงดจัดงานไป 2 ปีในช่วงโรคระบาดใหญ่
กว่า 60 แกลเลอรี่ที่เข้าร่วมงาน นอกจากแกลเลอรี่ดังๆ ของอินโดจากจาการ์ตา บันดุง ยอร์กยาการ์ตา บาหลี แล้ว ก็ยังมีแกลเลอรี่จากโอซาก้า กัวลาลัมเปอร์ ไทเป โฮจิมินห์ มะนิลา ปักกิ่ง โซล สิงคโปร์ รวมถึงสองแกลเลอรี่จากกรุงเทพฯ อย่าง SAC Gallery ที่นำเสนองานสคัลป์เจอร์ของวิภู ศรีวิลาศ ชุด The Marriage of Sang Thong ว่าด้วยเรื่องความรักและความเท่าเทียม และ Warin Lab Contemporary นำงานชุด Weaving the Ocean ของ Ari Bayuaji ศิลปินชาวอินโดนีเซียที่เล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมและขยะในท้องทะเล บนงานศิลปะบนผืนผ้าได้อย่างน่าสนใจ
เราค่อนข้างเซอร์ไพรซ์กับมวลมหาชนที่เข้าเยี่ยมชมงาน Art Jakarta ปีนี้แบบเนืองแน่นตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย ทั้งรอบสื่อ แขกวีไอพี และบุคคลทั่วไป มีคนอินโดนีเซียเองทุกเพศทุกวัย บ้างมาเป็นครอบครัว บ้างมากับโรงเรียน มหาวิทยาลัย แล้วก็มีคนต่างชาติไม่น้อย แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของแวดวงศิลปะในอินโดนีเซียที่ถือเป็นเบอร์ต้นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถมการจัดงานครั้งนี้ก็ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมของอินโดนีเซียโดยมี ‘ศิลปะ’ เป็นตัวนำและขับเคลื่อน ซึ่งงานศิลปะหลายๆ ชิ้นก็เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ช่วงโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่จิตใจความรู้สึกของศิลปิน
ลองนั่งรถไฟฟ้า จาการ์ตา (MRT Jakarta) ครั้งแรก
จากสถานีใกล้ที่พักที่สุด บุนดารัน ฮาอี (Bundarun HI) เราได้ลองนั่งรถไฟฟ้าไปสุดสายที่สถานี เลอบัก บุลุซ แกรบ (Lebak Bulus Grab) ระยะทาง 15.5 กิโลเมตร ใช้เวลาไม่ถึง 30 นาที ราคา 14,000 IDR
MRT Jakarta คือรถไฟฟ้าทั้งแบบลอยฟ้าและใต้ดิน เปิดให้บริการครั้งแรก มีนาคม 2019 ตอนนี้สร้างเสร็จเพียงสายเดียวซึ่งยังไม่ครอบคลุมทั้งจาการ์ตา แต่ก็มีแพลนของส่วนต่อขยายที่จะให้บริการเพิ่มอีกในอนาคต ทำให้ปริมาณผู้โดยสารยังดูบางตา และระบบต่างๆ อาจจะยังไม่เข้าที่มากนัก
อย่างในช่วงที่เราเดินทางไป (ปลายเดือนสิงหาคม 2022) เราได้พบว่าตู้ขายตั๋ว (Ticket Machine) ที่ใช้งานได้จะมีเพียง 1 ตู้ต่อสถานี ในบางช่วงเวลาจึงอาจจะเห็นคิวซื้อตั๋วค่อนข้างยาว แม้จะมีพนักงานสถานีมาช่วยดูแลเรื่องซื้อตั๋ว แต่หลายคนไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ 100% จึงอาจจะมีงงๆ อยู่บ้าง ในเรื่องการให้ข้อมูล และยังขาดป้ายสื่อสารขั้นตอนเงื่อนไขการซื้อบัตรและการโดยสารรถไฟฟ้าอยู่พอสมควร ไปจนถึงเป็นแผนที่ถนนด้านนอกที่เชื่อมกับทิศทางของแต่ละฝั่งประตูเข้าออก เหล่านี้ยังมีอยู่น้อยเกินไป
บางสถานีมีลิฟต์และบันไดเลื่อน แต่บางสถานีก็มีแต่บันไดอย่างเดียว เราจึงเห็นความขลุกขลักสำหรับผู้โดยสารสูงอายุอยู่บ้าง แต่โดยรวมบรรยากาศของตัวสถานีและในขบวนรถไฟถือว่าสะอาดเอี่ยมอ่อง เป็นระเบียบ และบนรถไฟก็จะมีที่นั่ง Priority สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมถึงป้ายห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มขึ้นมา แล้วก็ป้ายเตือนห้ามพูดคุยกันในขบวนรถไฟเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย
ขั้นตอนการซื้อบัตร:
นอกจากคิวยาวแล้ว เราพบว่าปัญหาคือระบบตั๋วที่ออกแบบมาไม่เอื้อกับผู้ใช้เท่าไร โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยว โดยบัตรโดยสารหลักๆ จะแบ่งเป็น Single Trip ticket บัตรโดยสารเที่ยวเดียว มีค่าธรรมเนียมบัตร 15,000 IDR (สามารถ refund ค่าธรรมเนียมคืนได้เมื่อต้องการคืนบัตร) กับ Multi trip ticket ที่ใช้โดยสารได้หลายเที่ยว สามารถเติมเงินค่าโดยสารในบัตร และมีค่าธรรมเนียมบัตร 25,000 IDR (ไม่สามารถ refund ค่าธรรมเนียมบัตรหรือเงินค่าโดยสารคงเหลือในบัตรได้)
วันที่เราเดินทาง Ticket machine สามารถออกตั๋วได้เฉพาะแบบ Multi trip เท่านั้น ซึ่งเป็นบัตรที่มีค่าธรรมเนียมสูงกว่าแถมเมื่อเลิกใช้บัตร ก็เอาเงินคืนไม่ได้ นอกจากนี้เรายังไม่สามารถจ่ายค่าโดยสารได้ตามอัตราค่าโดยสารของสถานีที่เราจะไป แต่ต้องเป็นลักษณะเติมเงินเข้าไปในบัตร ซึ่งก็จะมีให้เลือกเป็นราคาถ้วนๆ เช่น 10,000 / 20,000 / 30,000 ไล่ไปเรื่อยๆ ดังนั้นการเดินทางจากสถานีต้นทางไปยังปลายทางที่มีราคาค่าโดยสาร 14,000 IDR จึงทำให้เราต้องเติมเงินทั้งหมด 20,000 บวกกับค่าธรรมเนียมบัตรอีก 25,000 รวมเป็น 45,000 IDR (โดยที่ในใบเสร็จจะไม่ได้ระบุแจกแจงถึงค่าธรรมเนียมบัตร 25,000 IDR ทำให้คนที่ไม่ได้หาข้อมูลมาก่อน อาจจะเป็นงงว่าเงินหายไปไหน 25,000 IDR)
บัตรโดยสารแบบ multi trip ไม่มีวันหมดอายุ จึงเหมาะกับคนท้องถิ่นที่ใช้บริการเป็นประจำมากกว่า ส่วนนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการครั้งสองครั้งอาจจะต้องคิดใหม่ หาก MRT Jakarta ยังไม่มีการปรับปรุงระบบและเงื่อนไขในการจำหน่ายตั๋ว นักท่องเที่ยวก็เหมือนจะต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และบางทีการนั่งแท็กซี่ฝ่ารถติดเหมือนเดิมอาจจะประหยัดกว่า ยกเว้นว่าใครอยากจะขึ้นมาดูบรรยากาศหรืออยากจะเลี่ยงรถติดจริงๆ ความนิ่งและความใหม่เอี่ยมของรถไฟใต้ดินก็ให้บรรยากาศการเดินทางที่สบายกว่า แอร์เย็นฉ่ำ คุมเวลาได้ดีกว่า ไม่แออัด และไม่ต้องเวียนหัวเมารถท่ามกลางมลพิษในอากาศด้วย
South Jakarta คาเฟ่/แกลเลอรี่ และคอมมิวนิตี้มอลล์สำหรับคนรักสุนัข
จากสถานีรถไฟใต้ดินปลายทาง เลอบัก บูลุซ แกรบ (Lebak Bulus Grab) เราต่อแท็กซี่อีกนิดเดียว ก็มาถึง dia.lo.gue สเปซสำหรับคนรักศิลปะที่รวมไว้ทั้งแกลเลอรี่ ร้านขายของดีไซน์ และคาเฟ่/ร้านอาหาร บรรยากาศโปร่งโล่งสบายๆ ด้วยตัวตึกที่เน้นการใช้วัสดุไม้และกระจก เดินเข้ามารู้สึกอบอุ่น มีบ่อน้ำเล็กๆ และสนามหญ้าด้านนอกสร้างความผ่อนคลาย โดยมีแมวประจำร้านคอยเดินนำสายตาเราไปตรงนู้นที ตรงนี้ที สามารถสั่งเมนูสปาเก็ตตี้ ข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น ข้าวผัดแบบอินโดฯ หรือเพียงแค่สั่งคาปูชิโนสักแก้ว ก็ทำให้ยามบ่ายวันนั้นในจาการ์ตาดูผ่อนคลายขึ้นเยอะ
ไม่ไกลกัน เราเดินไปยังคอมมิวนิตี้มอลล์ที่เหล่าคนรักสุนัขจะจูงน้องๆ มาวิ่งเล่น ชื่อว่า Como Park Jakarta ก็จะมีสนามหญ้า มีร้านตัดแต่งขนสุนัข และร้านไอศกรีม ร้านอาหาร อยู่ในที่เดียวกัน แต่กว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ได้ ก็ต้องบอกว่าฟุตบาธไม่เอื้อต่อคนเดินถนนเท่าไรเลย นี่คือเหตุผลที่คนจาการ์ตาต้องไปไหนมาไหนด้วยการใช้รถ และเราได้แต่หวังว่าการมาถึงของรถไฟฟ้า Jakarta MRT ที่กำลังจะเพิ่มส่วนต่อขยายและพัฒนาปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น จะช่วยให้จาการ์ตามีรถติดน้อยลง มีมลพิษน้อยลง เพราะที่จริงแล้ว จาการ์ตาเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ มีการผสมผสานกันของวัฒนธรรมเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ที่หยั่งรากลึก เป็นเมืองมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลกแต่ก็ค่อนข้างให้อิสระเสรีและเปิดโอกาสให้ผู้คนได้แสดงออกความรู้สึกนึกคิด
จาการ์ตาไม่ได้มีดีแค่การมาแวะซื้อผ้าลายสวยๆ หรือขนมขบเคี้ยวสไตล์อินโดกลับไปเป็นของฝากเท่านั้น ความสนุกของการมาเที่ยวจาการ์ตา สำหรับเราคือการได้มาเห็นวิถีชีวิตของผู้คน เห็นการอยู่ร่วมกันของความแตกต่างในเมือง เห็นการให้ความสำคัญของศิลปะทั้งแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย รวมถึงเห็นจาการ์ตาที่กำลังค่อยๆ เดินไปข้างหน้าในทุกๆ วัน มันทำให้เราเองก็ได้เรียนรู้อะไรขึ้นอีกเยอะมากเหมือนกัน