“แอ็บสแตร็กต์มีอยู่ในทุกอย่าง มันเป็นอะไรก็ได้ขึ้นอยู่กับคนที่เสพ แต่คนมักมาพร้อมกับความต้องการจะเข้าใจ โดยที่ลืมไปว่ามันเป็นการปิดประตูตัวเอง” ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ กล่าว

ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์

ไทวิจิตคือศิลปินรุ่นใหญ่ที่คนในแวดวงศิลปะมักเรียกกันว่า “พี่มอ” ผู้ใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ เขาหลงใหลในศิลปะแบบแอ็บสแตร็กต์และยังหลงใหลของเก่า ของใช้แล้ว จนนำมาเป็น object ในการสร้างงานศิลปะได้อย่างน่าสนใจ

ลาวีอองโร้ดได้มาพบพี่มอในวันเปิดนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขาที่ชื่อว่า “The Leftover” คิวเรตโดยคุณฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวณิช โดยจัดแสดงงานในสองแกลเลอรี่ติดกันในย่านช่องนนทรี กรุงเทพฯ ได้แก่ Gallery VER จัดวางงานประติมากรรม และ Artist+Run จัดแสดงผลงานจิตรกรรม

ผลงานที่จัดแสดงที่ Artist+Run Gallery

“ผมเล่นกับพวกของรีไซเคิลมา 20-30 ปีแล้ว เริ่มทำงานประติมากรรมจากไม้ก่อน ด้วยของที่เก็บๆ ได้ ตั้งแต่ผมไปอยู่เชียงใหม่ ต่อมาเรื่อยๆ จนเป็นพวกงานเหล็ก และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ใช้พลาสติก คือมันเป็นเซนส์ของเราที่จะรู้ว่า object ชิ้นนี้ รูปทรงอย่างนี้ สีสันอย่างนี้ มีความเบี้ยวบูด บุบ มีสนิม แบบนี้น่าจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง ผมเสียดายศักยภาพของตัววัสดุเอง และมองเห็นว่ามันสามารถที่จะคิดและพัฒนาให้เป็นไปตามศักยภาพที่เราต้องการได้ ตัววัสดุมันก็ยังเหมือนเดิมแต่มันอยู่ที่เราคิดว่ามันมีความหมายต่อเรายังไง มันให้ความสุขกับเราในการทดลองอะไรที่ต่างออกไปแต่อยู่บนพื้นฐานของสิ่งของเหลือใช้” เขานั่งลงที่โซฟาในแกลเลอรี่ Artist+Run และเอ่ยถึงความหมายของชื่อนิทรรศการ ‘The Leftover’ นั่นคือของใช้งานไม่ได้ ถูกทิ้ง และไม่มีความหมายในเรื่องประโยชน์ใช้สอย

ARTIST+RUN (2018)

“งานของผมเป็นแอ็บสแตร็กต์ทั้งหมด แอ็บสแตร็กต์เนี่ยจะว่ายากก็ยาก แต่จะว่าง่ายสำหรับบางคนมันก็ใช่เลย มันค่อนข้างฟรีมาก จะเป็นอะไรก็ได้ขึ้นอยู่กับคนที่เสพ แต่คนที่เสพส่วนใหญ่มักจะมาด้วยความต้องการเข้าใจ เฮ้ย ไอ้นี่มันอะไร แต่เขาลืมไปว่านั่นเป็นการปิดประตูตัวเอง ความจริงงานโฆษณาหลายชิ้นก็เป็นแอ็บสแตร็กต์ แต่โอเคมันมีข้อความที่ดึงดูดเรา มีฟอนต์ มีองค์ประกอบที่ช่วยนำความคิดเราอยู่บ้าง”

ความสนุกคือการที่ได้สำรวจทั้งสองแกลเลอรี่ในฟีลลิ่งที่ต่างกัน สำหรับ Artist+Run จะมีเพนต์ติ้งสีสันสดใส ชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ แขวนอยู่ตามผนัง ถ้ามองปราดไปเราจะเห็นชิ้นงานที่เป็นฟรีฟอร์ม เห็นการใช้สีเยอะๆ แต่เมื่อมองใกล้ๆ เราจะพบวัสดุอื่นๆ ที่นอกจากผืนผ้าใบแคนวาสเรียบๆ สอดแทรกอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเหล็กขึ้นสนิม ไม้เก่า กระสอบ สักหลาด กระดาษลัง และยังเห็นคราบสีที่บางจุดก็เป็นก้อน รวมกันออกมาเป็นเท็กซ์เจอร์หรือพื้นผิวที่ขรุขระหยาบกร้าน แต่มันทำปฏิกิริยากับฝีแปรงของพี่มอได้น่าสนใจมาก ปะติดปะต่อเข้าด้วยกันเหมือนงานคอลลาจ

‘ความไม่เสร็จ’ หรือความเว้าแหว่งขาดหายที่ไม่เพอร์เฟ็กต์นี่แหละ คือสิ่งที่ดึงดูดเราให้อยากรู้วิธีคิดของศิลปิน

หนึ่งในผลงานไฮไลท์ จัดแสดงที่ Gallery VER

ขณะที่ Gallery VER จะมีชิ้นงาน 3 มิติจัดวางอยู่ตามพื้นและชั้นวาง “หุ่นยนต์ตัวใหญ่กลางห้องนั่นจะมีผ้า พลาสติก สีที่แข็งแล้ว ใช้การไม่ได้ในแง่ของประสิทธิภาพในการเพนต์ แต่ผมก็เอามาสร้างสรรค์ในแบบของผม ส่วนเซ็ตเก้าอี้ที่ตั้งชื่อว่า Moments ได้แรงบันดาลใจมาจากกรรมกร เพราะกรรมกรทำงานหนักสาหัส เขาจะมีเวลาพักเบรกแค่ตอนกินข้าว หรือไม่ก็ตอนที่หัวหน้า/ผู้รับเหมาไม่มา ซึ่งเขาก็ต้องมานั่งแก่ว ต้องรอว่าจะถูกสั่งอีกเมื่อไร ในเวลาแบบนั้น บางคนก็อาจจะเอาเศษไม้เศษอะไรมาประดิษฐ์ของ อย่างเช่นเก้าอี้ซึ่งผมเอามาแสดงงานครั้งนี้ด้วย แรงบันดาลใจนี้พุ่งไปสู่ความคิดที่ว่า คนทุกคนมีศักยภาพที่จะทำอะไรเพื่อ serve ตัวเอง เขาทำแล้วเขาได้นั่งพัก” เขาตั้งชื่องานว่า ‘Moments’ เพราะมันเป็นห้วงเวลา

“คนที่เหนื่อยต้องการเวลาพัก แต่บางคนลืมที่จะนั่ง ลืมที่จะกินข้าว กินน้ำ ซึ่งพอได้นั่ง ก็จะรู้สึกว่าโคดสบายเลย เวลานั้นมันจะเป็นห้วงอารมณ์ที่ดีมาก คุณสบาย คุณได้คิดถึงเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน มีอะไรผ่านเข้ามาในชีวิต ให้เราได้ทบทวน หรืออะไรก็ตาม ได้มีความคิดสร้างสรรค์ ผมถึงทำเก้าอี้ม้านั่งเด็กออกมา โดยไม่ได้สนใจฟังก์ชั่น บางตัวก็นั่งได้ดี บางตัวก็ง่อนแง่น” เขาอธิบาย

นอกจากนี้ยังมีชิ้นงานที่ชื่อ Classic Trap ที่พี่มอเปรียบเทียบกับบ่วงกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราติดกับดักความคิดของตัวเอง จนเป็นต้นเหตุของความทุกข์ และพี่มอได้สื่อสารผ่านการเบลนด์คราบสนิมให้อยู่ร่วมกับคราบสีตั้งแต่โทนสว่างไปถึงโทนมืดได้อย่างกลมกลืน ราวกับเป็นซากแห่งความคิดทั้งดีและชั่วที่มันปะปนอยู่ในจิตวิญญาณของเราเอง

Classic Trap

“มนุษย์ต้องมีทั้งความดีและความชั่วอยู่แล้ว ไม่มีคนไหนมีข้อเสียไปหมด คนบางคนมักชอบเปรียบเทียบขยะเหมือนคนไร้คุณค่า แล้วทีนี้คุณจะมองคนยังไง จะมองกรรมกรหรือคนทำงานเป็นคนชั้นต่ำเหรอ ทุกชีวิตมีคุณค่าหมดครับ มนุษย์เรามีสมอง มีศักยภาพที่จะทำอะไรที่ดีได้ เพราะแม้แต่ขยะก็ยังสามารถนำมารีไซเคิลเป็นพลังงานที่ดีได้” เหมือนกับที่พี่มอกำลังรีไซเคิลของใช้แล้วเหล่านี้ มาเป็นงานศิลปะให้ผู้คนได้ขบคิดบางอย่าง

ความหมายของ ‘ขยะ’ อาจจะเหมือนกับศิลปะแบบแอ็บสแตร็กต์ มองไม่เห็น ไม่ได้แปลว่าไม่มีอยู่

นิทรรศการ The Leftover โดยไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ จัดแสดงที่ Artist+Run Gallery และ Gallery VER ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 22 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2563

Anya Wan
นักเขียน/นักดนตรี ที่นอกจากเล่นเชลโลแล้ว ยังชอบออกเดินทางคนเดียวอยู่เสมอๆ มิวเซียม ตลาดของเก่า ร้านกาแฟ และเมืองที่มีกลิ่นอายวัฒนธรรมเก่าแก่คือสถานที่ที่เธอชอบไป

Comments are closed.