สงคราม ธุรกิจ และความ versatile ของอวัยวะเพศหญิง
ใครจะรู้ว่าในซอยพัฒน์พงศ์ มีมิวเซียมคูลๆ ซ่อนอยู่ มิวเซียมที่บอกเราว่า “ศิลปะ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และเซ็กซ์” มันเกี่ยวพันกันทั้งหมด บทความนี้จะพาไปทำความรู้จัก ‘พัฒน์พงศ์’ ในอีกแง่มุมที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน
ไมเคิล เมสซ์เนอร์ (Michael Messner) ชาวออสเตรียที่มาทำธุรกิจและแต่งงานอยู่ที่เมืองไทย โดยเปิดร้านอาหารอยู่ในซอยพัฒน์พงศ์ เขาได้รู้เรื่องเล่าที่น่าสนใจของพื้นที่แห่งนี้ จึงตัดสินใจทำมิวเซียมเพื่อบอกเล่าเรื่องราวให้คนอื่นได้รู้ด้วย และความที่คุณพ่อของเขาเป็นศิลปินและดูแลอาร์ตมิวเซียมอยู่ที่กรุงเวียนนา บ้านเกิดอยู่แล้ว การทำ ‘พัฒน์พงศ์มิวเซียม’ แห่งนี้ก็เลยมีความไม่ธรรมดา มันไม่ใช่พิพิธภัณฑ์น่าเบื่อที่มีข้อมูลให้คนยืนอ่านๆ ตามบอร์ด แต่เรียกได้ว่ามีการออกแบบทันสมัย ตั้งแต่การจัดวางของ เปิดเพลง จัดแสงไฟ ไปจนถึงอุปกรณ์ interactive เพื่อเล่นกับผู้เข้าชมด้วย
เรื่องราวย้อนกลับไปตั้งแต่มีผู้เข้ามาครอบครองที่ดินผืนนี้ และการพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งร้านค้า สำนักงานใหญ่ของบริษัทระดับโลก ก่อนจะกลายเป็นฐานที่มั่นของทหารสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามเวียดนาม และการเข้ามาของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ผับบาร์ และความบันเทิงยามค่ำคืนอีกหลากหลาย ที่ผู้คนทั่วโลกต้องรู้จัก ถ้าพร้อมแล้ว! เราไปอ่าน 10 เรื่องน่ารู้เชิงประวัติศาสตร์ของพัฒน์พงศ์กัน
1. ชื่อของถนนพัฒน์พงศ์มาจาก หลวงพัฒน์พงศ์พานิช ชาวจีนไหหลำที่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองไทย และสร้างตัวจนร่ำรวย มีเงินซื้อที่ดินละแวกนี้ในราคา 30,000 USD เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว
2. ลูกชายคนหนึ่งของหลวงพัฒน์พงศ์พานิช (คุณอุดม) เรียนจบกลับมาจากอเมริกา และตัดถนนเข้าที่ดินตัวเอง ทำตึกสำนักงานให้เช่า โดยผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นเพื่อนพ้องชาวต่างชาติของเขา ที่ชักชวนให้เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย
3. ยุคแรกของซอยพัฒน์พงศ์ จึงเป็นที่ตั้งของออฟฟิศธุรกิจยักษ์ใหญ่ของต่างชาติมากมาย เช่น Air France น้ำมันคาลเท็กซ์ และบริษัทเทคโนโลยี IBM ฯลฯ
4. ความล้ำของพัฒน์พงศ์ก็คือ มีทั้งร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งแรกในเมืองไทยชื่อว่า “ภัตตาคารมิสุ” และก็มีโรงแรมแห่งแรกที่ทันสมัยสุดๆ ในยุคนั้น ชื่อว่า Plaza Hotel เพราะมีน้ำร้อน มีแอร์ และมีโทรศัพท์ ครบสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องเลย
5. ฟู้ดแลนด์ ในซอยพัฒน์พงษ์ เป็นธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตสาขาที่ 2 ของผู้ก่อตั้งฟู้ดแลนด์ในไทย เปิดหลังจากสาขาแรกที่เพลินจิตได้ไม่นาน ตอนแรกชื่อว่า พัฒน์พงศ์ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ต่อมาก็รวมหุ้นสองที่นี้เป็นบริษัทเดียวกัน และให้ชื่อว่าฟู้ดแลนด์
6. ด้วยความที่ตอนคุณอุดมไปเรียนที่อเมริกา ได้เข้าร่วมกลุ่มเสรีไทย จึงมีคอนเนกชั่นกับ CIA หรือสำนักข่าวกรองกลางของรัฐบาลสหรัฐ ในช่วงที่มีสงครามเวียดนาม สงครามคอมมิวนิสต์ กลุ่ม CIA ที่มาใช้ชีวิตอยู่ในซอยพัฒน์พงศ์ จึงใช้ที่นี่เป็นเหมือนกองบัญชาการ แหล่งกบดาน และวางแผนกลยุทธ์ต่างๆ
7. ไลฟ์สไตล์ของทหารเหล่านี้จะรวมตัวกันในช่วงเย็นตามบาร์ ทั้งวางแผนงาน และสังสรรค์ไปด้วยในตัว จึงเกิดธุรกิจบาร์ต่างๆ โดยมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติมากมาย
8. บาร์อะโกโก้ (À gogo) ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในซอยพัฒน์พงศ์นี่แหละ จากการที่ลูกค้าผู้หญิงคนนึงเมาแล้วขึ้นไปเต้นคนเดียวบนบาร์ วันต่อมาเจ้าของบาร์ก็เลยได้ไอเดียจ้างน้องๆหนูๆมาเต้นไปเลยสิบคน เพื่อเอนเตอร์เทนลูกค้า (แต่ “เสา” มาทีหลัง เพื่อเพิ่มสีสันในการทำท่าทางให้แอดวานซ์มากขึ้น หรือไม่ก็เอาไว้เป็นที่ยึดเกาะให้คนเต้น เผื่อเป็นลมด้วยมั้ง 555)
9. กิจกรรมความบันเทิงในบาร์ย่านพัฒน์พงศ์ถือว่าครีเอทีฟติดอันดับโลก จนสาวใสยๆ แบบเรา ต้องอึ้งในความมหัศจรรย์ของการใช้ห. ทำสิ่งต่างๆ ได้มากมายเกินจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นปิงปองโชว์ เปิดขวดเบียร์ ดึงเชือกยาวไม่รู้จบออกมา หรือแม้แต่การเล่นกับใบมีดโกน
10. พัฒน์พงศ์โด่งดังในหมู่ชาวต่างชาติมากๆๆๆๆ ตั้งแต่ยุคเก่าที่เคยมีหลักฐานลงในนิตยสารตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส มาจนถึงยุคใหม่ๆ ก็มีคนดังระดับโลก ทั้งดาราฮอลลีวู้ด ศิลปิน นักร้อง เคยมาเที่ยวที่นี่ ไม่เว้นแม้แต่ เดวิด โบวี่ (David Bowie) ที่มาทัวร์คอนเสิร์ตในเอเชีย แต่ยอมลดราคาให้เมืองไทยเป็นพิเศษ เพราะอยากจะมาเที่ยวพัฒน์พงศ์
ทุกวันนี้พัฒน์พงศ์เป็นย่านบันเทิงหรือย่านโคมแดงที่อาจถูกมองในแง่ลบจากคนไทย ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ค่อยมีใครอยากเข้าไปนัก เพราะอาจกลัวถูกเข้าใจผิดหรือถูกมองไม่ดี แต่พัฒน์พงศ์มิวเซียมแห่งนี้ทำให้รู้ว่าการที่เราได้มีโอกาสมองย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์ในยุคหนึ่ง มันช่วยให้เราเข้าใจเหตุผลที่มา และความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่น่าทึ่งก็คือถนนตรงนี้มีหลายเรื่องราวสำคัญเกิดขึ้นมาก ขนาดว่าเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-อเมริกาก็ว่าได้
และที่ทึ่งกว่านั้นไปอีก ก็คือ มูลค่าที่มีอยู่บนถนนเส้นนี้ ดูจะมีแต่เพิ่มและเพิ่มไปเรื่อยๆ ปัจจุบันราคาที่ดินในซอยพัฒน์พงศ์สูงเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย
ตอนนี้แม้จะมีการผ่อนปรนในหลายๆ ธุรกิจหลังโควิด แต่บาร์ส่วนใหญ่ในซอยพัฒน์พงศ์ยังไม่ค่อยกลับมาเปิดกันค่ะ เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นกลุ่มต่างชาติ บรรยากาศจึงเงียบเชียบ โล่งว่าง แปลกตาไปมาก
ดังนั้นอาจเรียกว่าตอนนี้เป็นโอกาสที่ดีก็ได้ ที่เราจะลองเดินเข้าไปสำรวจย่านประวัติศาสตร์อีก 1 แห่งในกรุงเทพฯ โดยเริ่มปักหมุดจาก พัฒน์พงศ์มิวเซียม ก่อน แล้วเพื่อนๆ จะเดินสำรวจย่านนี้ได้สนุกขึ้น!
พัฒน์พงศ์มิวเซียม ตั้งอยู่ที่พัฒน์พงศ์ซอย 2 ตรงข้าม Food Land เปิดทุกวัน 11.00-20.00น. ค่าเข้าชม 350 บาทต่อคน ด้านในมีบาร์เครื่องดื่มให้นั่งชิลด้วย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Patpong Museum