จากความหลงใหลในการฟังเพลงจากแผ่นเสียง บวกกับความชอบในศิลปะงานคราฟต์ กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดผลงานศิลปะภาพพิมพ์จากห้วงอารมณ์ในบทเพลงที่จะพาผู้ชมท่องไปสู่โลกใต้ทะเล ในนิทรรศการ How Deep is The Ocean? โดย ก๊อง กีรติ เงินมี กราฟิกดีไซเนอร์เจ้าของผลงานออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์และปกอัลบั้มศิลปินไทยจำนวนมาก
How Deep is the Ocean? จัดแสดงที่ Emptyday Gallery พื้นที่แสดงงานศิลปะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Rivers & Roads ในจังหวัดเชียงใหม่ แค่เราเดินตามเสียงเพลงเข้าไป ก็จะเจอกับเครื่องพิมพ์ แผ่นเสียง และภาพที่ใช้เทคนิคภาพพิมพ์โลหะ บอกเล่าเรื่องราวใต้ทะเล จนรู้สึกเหมือนกับว่าเรากำลังแหวกว่ายเข้าไปในท้องทะเลแห่งจินตนาการ
ก๊อง กีรติ เงินมี ทำงานออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์มาหลายปี ก่อนจะมาทำงานในบริษัทเอเจนซี่ moonshot ตำแหน่ง senior creative executive (visual) แม้เทรนด์ในปัจจุบันจะผลักดันให้เขาและอีกหลายๆ คนต้องหันมาทำงานในสื่อดิจิทัล แต่ด้วยใจที่รักงานคราฟต์หรืองานทำมือ เขาจึงใช้เวลาว่างเว้นจากการงานหลบจากโลกดิจิทัล แวะเวียนกลับมาสู่โลกอะนาล็อก อย่างการสร้างงานคราฟต์หรือการฟังเพลงจากแผ่นไวนิลอยู่เสมอ นิทรรศการนี้จึงเป็นการนำสองสิ่งที่เขาหลงใหลมาผสมผสานกัน นั่นคือดนตรีและภาพพิมพ์ เพราะเชื่อว่างานกราฟิกจากคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทดแทนความรู้สึกที่งานทำมือมีให้ได้
“How deep is the ocean? จุดเริ่มต้นงานมาจาก ชิ้น Blue Whale ที่เป็นรูปปลาวาฬประภาคาร ตอนปี 2016 ช่วงนั้นค่อนข้างมีวิกฤติในช่วงวัย การงานความรัก สิ่งที่เป็นตัวเรา ความเชื่อหลายๆ อย่างในชีวิตถูกสั่นคลอน ประกอบกับฟัง How deep is the ocean? บ่อยมาก ภาพในหัวเลยกลายเป็นปลาวาฬกับประภาคารกลางท้องทะเลจับมันแมทกัน หลังจากนั้นจึงทำภาพเรื่องราวที่เกี่ยวกับใต้ท้องทะเลจับแมตช์กับเครื่องดนตรีต่างๆ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบทเพลงแจ๊ซ รู้สึกว่าช่วงนั้นทำงานภาพพิมพ์แล้วมันตัดความคิดวุ่นวายเรื่องอื่นๆ แล้วมันเยียวยาตัวเองไปในตัว ส่วนนี้ใช้เทคนิคภาพพิมฑ์โลหะ Etching ซึ่งเทคนิคนี้คอนข้างเก็บเรื่องรายละเอียดได้ดี” กีรติ เงินมี เล่าที่มาของงานชิ้นนี้
“ช่วงโควิดน้องนัดเจ้าของแบรนด์ Jibberish ซึ่งดูแลแกลเลอรี่ Emptyday ชวนมา เห็นว่าเราทำงานภาพพิมพ์เป็นงานอดิเรกแต่จริงจังมาหลายปี อัพลงไอจีเล่นๆ มาเรื่อยๆ ทำมาน่าจะถึงสิบปีได้แล้วแต่จะทำเป็นช่วงๆ มีเวลาว่างก็จะทำ ไม่ได้เรียนภาพพิมพ์มาโดยตรง แต่ก็หลงเสน่ห์งานด้านนี้ ล่าสุดก็ใช้เทคนิคภาพพิมพ์โลหะประกอบกับงานกราฟฟิกให้กับอัลบั้มล่าสุดของวง Slow Reverse อัลบั้ม The Moon Arrives
“การทำภาพพิมพ์โลหะมีความเป็นวิทยาศาสตร์มาก มีการทดลองและจดบันทึกข้อมูลไว้ตลอดเวลา อย่างการแช่สารละลายที่แผ่นโลหะให้เกิดลวดลายต่าง จับเวลาในการแช่กี่นาทีจะได้ความเข้มของสีที่ต่างกันต้องจดบันทึกเอาไว้ บางทีก็ได้เอฟเฟ็กต์พื้นผิวลายอะไรบางอย่างมาแบบฟลุ๊กๆ ไม่ได้ตั้งใจ พอจะตั้งใจทำให้ได้แบบเดิมก็ไม่ได้แล้ว ยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้เองอยู่เรื่อยๆ ส่วน woodcut คือ การใช้สติกับความแม่นยำในการแกะ งานแกะไม้คือแกะออกไปแล้วมันหลุดไปเลยไม่สามารถเรียก edit กลับไปได้อีกแบบงานคอมพิวเตอร์ ทั้งหมดก็คือเสน่ห์ของงานประเภทภาพพิมพ์” และศิลปินก็ได้ถ่ายทอดเสน่ห์เหล่านั้นมาให้เราได้สัมผัสไปด้วยกัน ชวนให้เราใช้ชีวิตให้ช้าลง แล้วปล่อยใจล่องไปในทะเลแห่งจินตนาการของตัวเองบ้าง ก็มีความสุขไม่น้อยเลย
นิทรรศการ How deep is the Ocean? จัดแสดงที่ Emptyday Gallery จังหวัดเชียงใหม่ ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2020