จากแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชุด ‘วิวาห์พระสังข์’ (The Marriage of Sang Thong) นิทรรศการเดี่ยวของวิภู ศรีวิลาศ นำมาสู่คำถามและมุมมองในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ นิยามความรักและการแต่งงาน

Hightlights

  • ความรักมีสารพัดรูปแบบ ไม่ใช่แค่ผู้หญิงกับผู้ชาย หรือ same sex marriage อย่างหญิงกับหญิง และชายกับชายเท่านั้น ตอนนี้มันก้าวไปไกลมหาศาล
  • การต่อสู้เพื่อให้ความรักเป็นที่ยอมรับของสังคมและครอบครัวของรจนาและสังข์ทองในวรรณคดีไทย เชื่อมโยงกับการต่อสู้เรียกร้องสิทธิทางสังคมของกลุ่ม LGBTQ ทั่วโลก
  • นิทรรศการ The Marriage of Sang Thong โดยวิภู ศรีวิลาศ ไม่เพียงแต่นำเสนอมุมมองความรักของคนเพศเดียวกัน แต่ยังทำให้ผู้ชมได้สำรวจมุมมองความรักของตนเองด้วย

S__11960486.jpg

ภายใต้ความสดใสน่ารักของตุ๊กตาหลากหลายวัสดุที่วางเรียงกันในห้องจัดแสดง กลับกำลังบอกเล่าถึงสิ่งที่ไม่ได้สดใสขนาดนั้น มันเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ สมัยก่อนอาจมีแค่เพศชายกับหญิง แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกเริ่มตระหนักถึงความหมายของเพศที่เปลี่ยนไป มันมีหลากหลายและซับซ้อนเกินกว่าจะจำกัดความ และแมสเสจนั้นได้ถูกถ่ายทอดลงในงานศิลปะหลากหลายวัสดุของวิภู ศรีวิลาศ

A258F6CC-18F8-4F87-83D6-811F2B1B12F3.jpg

วิภูเป็นศิลปินเชื้อชาติไทย สัญชาติออสเตรเลีย เขาอาศัยอยู่ที่ออสเตรเลียตั้งแต่เรียนจบปริญญาโทที่นั่นและได้คบกับแฟนของเขามากว่า 20 ปี จนเพิ่งจะได้แต่งงานกันถูกต้องตามกฎหมายของออสเตรเลียเมื่อต้นปี 2019 ที่ผ่านมา จึงเป็นที่มาของการทำผลงานศิลปะชุดนี้ที่เป็นเหมือนการเฉลิมฉลองเล็กๆ ให้กับตัวเอง และสะท้อนถึงสิทธิของ LGBTQ ทั่วโลก

ความน่ารักก็คือเขาได้เชื่อมโยงถึงความรักของพระสังข์กับรจนาในวรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทองด้วย เกิดเป็นสคัลป์เจอร์ตัวละครในสังข์ทองหลายชิ้น โดยชิ้นไฮไลท์ทำขึ้นจากบรอนซ์ สื่อถึง 10 เหตุการณ์สำคัญในการเรียกร้องสิทธิของคู่รักเพศเดียวกัน เช่น เหตุการณ์ Stonewall ความตื่นตัวต่อสิทธิของเกย์ที่เกิดขึ้นที่นิวยอร์กเมื่อปี 1969 หรือแคมเปญ Yes ที่เกิดในออสเตรเลียเมื่อปี 2017

1969.jpg
ชิ้นงานที่ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ Stonewall ความตื่นตัวต่อสิทธิของเกย์ที่เกิดขึ้นที่นิวยอร์กเมื่อปี 1969
YES.jpg
ชิ้นงานที่ได้แรงบันดาลใจจากแคมเปญ Yes ที่เกิดในออสเตรเลียเมื่อปี 2017

ขณะที่ชุดงานเซรามิกซึ่งเป็นวัสดุที่เขาถนัด ก็ได้สร้างสรรค์เป็นชุดประติมากรรมพอร์ซเลนลายดอกไม้ที่วาดคำต่างๆ เอาไว้ ซึ่งล้วนเป็นคำที่สื่อความหมายเกี่ยวกับความรักและการแต่งงานในแบบต่างๆ เช่น Future, Family, Fidelity, Foundation, Formality, Fortune, Faith, Friendship ฯลฯ การได้มองดูผลงานเหล่านี้ ก็เหมือนได้สำรวจมุมมองความรักของตัวเองไปด้วย เราลองไปพูดคุยกับศิลปินถึงแรงบันดาลใจและที่มาของงานชุดนี้กันดู เผื่อจะทำให้เราได้เข้าใจความหมายของเรื่องเพศ การแต่งงาน และความรักมากขึ้น

b02b12f9-4fb8-4f07-8391-7bb1e7c3618f.jpg

ad303290-b81b-4042-b13c-c74708a81a95.jpg

ทำไมถึงหยิบยกประเด็น ‘การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน’ มานำเสนอ

พี่แต่งงานกับสามีของพี่เมื่อต้นปี 2019 พอแต่งแล้วก็รู้สึกว่าอยากจะทำอะไรที่เป็นเหมือนกับการเฉลิมฉลอง (celebration) ให้กับเหตุการณ์สำคัญอันนี้ เราอยู่ด้วยกันมา 20 กว่าปีนะ แต่เพิ่งจะสามารถเป็นคู่กันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อต้นปีนี้เอง พี่ใช้ชีวิตอยู่ที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย มาตั้งแต่เรียนจบ คือพี่มาเรียนต่อปริญญาโทแล้วพี่ก็เจอกับแฟนที่ออสเตรเลีย เลยอยู่กันมาเรื่อยๆ ถึงตอนนี้เลย มาเมืองไทยนี่เหมือนมาเป็นนักท่องเที่ยว บ้านนี่อยู่ที่ออสเตรเลียแล้ว

S__11960481.jpg

การแต่งงานของเพศเดียวกันเกี่ยวข้องกับสังข์ทองยังไงคะ

คนไทยรู้จักเรื่องนี้ดี และรู้ว่าทั้งรจนาและสังข์ทองต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายกว่าความรักจะเป็นที่ยอมรับของสังคมและครอบครัว กว่าพ่อแม่จะยอมรับ ต้องไปจับปลา หาเนื้อตีคลี ไปอยู่กระท่อมปลายดอย มันเป็นเรื่องของการต่อสู้ฝ่าฟัน เหมือนที่เราต่อสู้เรื่องสิทธิของ LGBT ทั่วโลก เพื่อจะบอกให้ทุกคนยอมรับว่าความรักของเรามันมีอยู่จริง ในเมืองไทยก็มีการพูดถึงว่ากำลังจะมีการนำเรื่องเข้าสภา แต่ก็ยังไม่ไปถึงไหน แต่อย่างน้อยมันก็ดีที่ยังมีการเริ่มบ้าง ดีกว่าไม่มีใครพูดถึงเลย อย่างออสเตรเลียพูดกันมาเกือบสิบปีนะกว่าจะเป็นไปได้

S__11960484.jpg

การแต่งงานเป็นความจำเป็นแค่ไหนสำหรับเรื่องของความรักการใช้ชีวิตคู่

ก็แล้วแต่คนนะ แต่สิ่งสำคัญคือ เราสามารถเลือกที่จะแต่งงานได้ ไม่ใช่ว่าเราอยากแต่งแล้วเราแต่งไม่ได้ การแต่งงานมันมีประโยชน์อย่างหนึ่งในออสเตรเลีย อย่างถ้าแฟนพี่ป่วย พี่บอกได้ว่าเราเป็นคู่กัน แต่ถ้าไม่ได้แต่งงาน เราก็ต้องมีเอกสารเพื่อยืนยันว่าเราอยู่ด้วยกัน ถ้าแฟนพี่ป่วยหนัก พี่จะไม่สามารถเข้าไปดูแลรักษาอะไรได้ นอกเสียจากว่าเราเอาเอกสารอันนี้มา ซึ่งถ้าเขาป่วยหนัก เราก็คงไม่มีแก่ใจที่จะไปนั่งหาเอกสารมายืนยันแล้ว อันนี้ก็เป็นส่วนได้เปรียบอันหนึ่ง

S__11960493.jpg

ทำไมถึงทำเป็นงานสคัลป์เจอร์จำนวนหลายชิ้นและหลากหลายรูปแบบ วัสดุ

พี่ขอทุนจาก The Australia Council for the Arts และได้ทุนมา ทุนนี้ทำให้เรามีที่ปรึกษา คือคุณสาครินทร์ เครืออ่อน เขาแนะนำว่าอย่างแรกที่ควรจะทำก็คือลองวัตถุดิบใหม่ๆ พี่ก็เลยลองทำแก้ว บรอนซ์ ไม้ พลาสติก แต่ที่ถูกใจสุดคือบรอนซ์ เพราะที่ผ่านมาทำแต่เซรามิกมาตลอดและมันเป็นวัสดุที่ fragile แตกง่าย เป็นสิ่งที่ต้องระวังรักษา แต่พอเราทำเรื่องความรักและการแต่งงาน ก็อยากใช้บรอนซ์ เพื่อสื่อถึงความอยู่ยงคงกระพัน ไม่แตกไม่หัก และคงทน บรอนซ์เนี่ยเป็นวัสดุที่ใช้ทำพระพุทธรูปและมีความศักดิ์สิทธิ์ที่สถาบันการแต่งงานเขามอบให้คู่ที่สมรสกัน

S__11960483.jpg

ทั้งที่ประเด็นข้างในมันมีแมสเสจที่ค่อนข้างจริงจังอยู่เหมือนกัน แต่มองจากลักษณะชิ้นงานภายนอกแล้ว มันดูสวยงามน่ารักไปหมดเลย

พี่ทำงาน อยากให้คนดูมองแล้วรู้สึกมันสวยหรือน่ารัก คือดึงคนเข้าไปก่อน และจากนั้นเขาจะรู้หรือไม่รู้ก็อีกเรื่องหนึ่งว่ามันมีแมสเสจที่หนักซ่อนอยู่ แต่ถ้าเกิดพี่ทำเป็นเรื่องหนักเลย มันยากสำหรับตัวพี่เองด้วย บุคลิกไม่ใช่คนแบบนั้น และก็อาจจะยากที่จะเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ เพราะพอมันดูน่ากลัวเป็นเรื่องซีเรียส เขาก็ไม่สนใจ แต่พอเป็นเรื่องน่ารัก คนก็มาดูว่าอ้อ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

S__11960482.jpg

ทำไมถึงเลือกทำกิจกรรม Art Performance เกี่ยวข้องกับการกินดื่ม ทั้งงาน Afternoon Tea ที่จัดที่โรงแรม Rosewood Bangkok และกิจกรรม Love Lab ที่ Subhashok The Arts Centre

ความรักมันมีหลายรูปแบบ มีหลาย form และ flavor และคนไม่ได้มีแค่ผู้หญิงผู้ชาย มีรักสารพัดรูปแบบ และคนก็ชอบเอาความรักไปเปรียบกับอาหาร sweet love, bitter love, sour love, spicy love เลยเอาไอเดียนี้มาทำเป็นอาหาร อยากให้คนเข้ามาและได้รู้ว่าความรักมีหลายรูปแบบ เลยทำเป็นแบบฟอร์มให้เขาได้สำรวจตัวเอง ความรักนี่เราไม่รู้หรอกว่ามันดีหรือเลวจนกระทั่งเราเข้าไปอยู่ในความรักนั้น ดูจากข้างนอกนี่ไม่รู้หรอกจะดีไหม เหมือนเวลาที่เรามองอาหาร มันดูดี แต่กินแล้วอาจจะไม่อร่อย

S__11960478.jpg
บิสกิตชิ้นพิเศษที่คุณวิภูทำให้ในกิจกรรม Love Lab
S__11960496.jpg
กิจกรรม Art Afternoon Tea ที่โรงแรม Rosewood Bangkok

รสชาติความรักของคุณวิภูเองเป็นยังไง

ชอบคนใจดี ชอบคนที่ทำให้เราหัวเราะได้ และก็คนที่ซื่อสัตย์ นี่แหละง่ายๆ

S__11960499
กิจกรรม Art Afternoon Tea ที่โรงแรม Rosewood Bangkok

ความหลากหลายทางเพศตอนนี้มันหลากหลายแค่ไหน

มันหลากหลายมากจนบางทีพี่ก็งงเองนะ ที่ออสเตรเลียตอนนี้เขามี political correctness เรียกชื่อต้องเรียกให้ถูก พอเรียกไม่ถูกมันเหมือนไปดูถูกเขาโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ คือเพราะเราไม่ตั้งใจหรือเราไม่รู้เนี่ยมันก็แปลว่าเราไม่ศึกษา แต่ว่าพอศึกษาไปตรงๆ ก็เห็นว่ามันมีหลากหลายมาก จนรู้สึกว่าที่ผ่านมา 40-50 ปีที่มันมีแต่ผู้หญิงผู้ชายหรือว่า same sex marriage ที่มีแต่ผู้ชายกับผู้ชาย ผู้หญิงกับผู้หญิง มันไม่ใช่อย่างงั้นแล้ว มันก้าวไปไกลมหาศาล บางคนแปลงเพศเป็นผู้หญิงแล้ว แต่กลับไปรักผู้หญิงใหม่ หรือบางทีแปลงเพศเป็นผู้ชายเสร็จแล้วกลับไปรักผู้ชายต่อ คือมันวุ่นวายกันไปหมดเลย แต่มันแสดงให้เห็นว่าความหลากหลายเนี่ย มันจำกัดความไม่ได้

S__11960497.jpg
กิจกรรม Art Afternoon Tea ที่โรงแรม Rosewood Bangkok

ปัจจุบันความหมายของ ‘เพศ’ เปลี่ยนไปเยอะมาก แล้วความหมายของ ‘ความรัก’ เปลี่ยนไปด้วยรึเปล่า

เปลี่ยน เมื่อก่อนพี่คิดว่าความรักคือความซื่อสัตย์ ต้องรักเดียวใจเดียว แต่พอเรียนรู้มากขึ้น มันไม่ใช่อย่างงั้น คนบางคนไม่ใช่ว่าเขาอยากจะมีแฟนมากมายอะไร แต่เป็นลักษณะนิสัยของเขา ซึ่งมันก็จะมีคนอื่นอีกที่ชอบมีแฟนมากมาย ก็จะมาเจอกัน เป็นกลุ่มสังคมที่อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ที่แบบภรรยาคนนี้ก็ไปเป็นภรรยาคนนู้นด้วย แต่ว่าอยู่ด้วยกัน มันก็มีของเขาอย่างนั้น ก็เลยจำกัดความลำบาก แล้วแต่ตัวของเราเองว่าเราชอบแบบไหน

S__11960494.jpg
กิจกรรม Art Afternoon Tea ที่โรงแรม Rosewood Bangkok

LGBT บางคนในเมืองไทยก็ไม่กล้าเปิดเผยตัวตน ยังแอ๊บอยู่ คิดว่าในโลกยุคนี้ที่เปิดกว้างมากขึ้นแล้ว เขายังจำเป็นต้องแอ๊บต่อไปไหม

ส่วนตัวคิดว่าไม่ควรจะต้องไปบังคับให้เขาออกมาเปิดเผยโดยที่เขายังไม่พร้อม เพราะมันมีหลายเหตุหลายปัจจัย บางทีเปิดมาเสร็จถ้าเขาไม่พร้อมเนี่ยมันแย่ไง คือถ้าตัวเองไม่พร้อม บางทีมันลำบากอ่ะ สังคมไทยบางทีมันก็ง่าย เพราะว่าคนแบบอะไรก็ได้ ชิลๆ แต่ถ้าเป็นสังคมแบบลูกคนจีนก็จะลำบากหน่อย อย่างคนเคร่งศาสนาคริสต์ที่ออสเตรเลีย พอลูกชาย come out มา หรือลูกสาว come out มา มันก็ลำบาก อาจจะไม่มีที่อยู่ ฉะนั้นการไปบังคับให้คนเปิดเผยออกมา ส่วนตัวพี่คิดว่ามันลำบากไปหน่อย และมันก็มีเหตุการณ์แบบบางคนพร้อมแล้วแต่ไม่อยากจะบอกก็โดน อย่างพวกดาราก็โดนหนัก

80427C6F-DC21-4E1A-A6D7-583F3B401B89.jpg

ลองเล่าถึงการใช้ชีวิตที่เมลเบิร์นหน่อย

เรียบๆ นะ ไม่มีอะไรมากมาย ไม่มีอะไรตื่นเต้น ตื่นเช้ามาก็ทำอาหารกล่องให้แฟนพี่ไปที่ทำงาน และก็ไปส่งเขาขึ้นรถไฟ และพี่ก็ขับรถไปทำงาน ตกเย็นก็เลิกงานไปช็อปปิ้ง และไปรับแฟนที่สถานีรถไฟและกลับบ้าน ทำกับข้าวกัน ดูหนังเสร็จก็นอน

เมลเบิร์นได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกติดต่อกัน 7 ปีซ้อน ในมุมของคนที่อาศัยอยู่ที่นั่น เมลเบิร์นเป็นยังไงคะ

หนึ่งเลยต้นไม้เยอะ สองคือขนส่งมวลชนดี สามคือความเสี่ยงเรื่องการเมืองน้อย และมีเทศกาลต่างๆ ให้คนเอนจอยได้ฟรีเยอะ และมีศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจ มีอาร์ตแกลเลอรี่ดีๆ มี exhibition ดีๆ เยอะ

S__11960491.jpg

หาแรงบันดาลใจให้ตัวเองยังไงบ้าง

ก็มาจากประสบการณ์ตัวเองนะครับ เวลาพี่ทำงาน จะทำเป็นซีรีส์ แล้วแต่ว่าอะไรที่จะมากระทบใจช่วงนี้ อย่างตอนนี้เพิ่งแต่งงานก็ทำเรื่องนี้ขึ้นมา พอคิดหัวข้อได้เราก็ research และแรงบันดาลใจมันก็มาตอน research นี่แหละ ดูกูเกิ้ล อ่านหนังสือ ดูรูปนู่นนี่ มันก็ค่อยๆ มา

คาดหวังอะไรกับคนที่มาชมงานนิทรรศการครั้งนี้

ไม่คาดหวังอะไรเลย เราไม่สามารถจะไปบอกให้เขาได้นั่นได้นี่ แต่ถ้าจะขอก็คืออยากให้คนดูได้มาทำ Love Lab มันสนุกด้วยกัน และได้ดูว่าความรักของเขาเป็นแบบไหน

S__11960489.jpg

นิทรรศการ ‘วิวาห์พระสังข์’ (The Marriage of Sang Thong) โดยวิภู ศรีวิลาศ จัดแสดงที่หอศิลป์ศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์ สุขุมวิท 39 ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2019 – 19 มกราคม 2020 และชั้น 3 โรงแรม Rosewood Bangkok ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2019 – 4 มกราคม 2020