final ปรับสี bus

การเดินทางเข้าออกสนามบินในแต่ละประเทศมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ตั้งแต่รถไฟด่วน รถไฟธรรมดา ลิมูซีน รถแท็กซี่ ไปจนถึงรถเมล์ แน่นอนว่าแท็กซี่ช่วยให้เราสะดวกสบายในเรื่องของการขนสัมภาระและเข้าถึงปลายทางได้โดยไม่ต้องเดินต่อ ในขณะที่รถไฟเองก็ควบคุมเรื่องเวลาได้แน่นอนเพราะไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพการจราจร

แต่ใช่ว่าออปชั่นการเดินทางเหล่านี้จะราบรื่นไปซะทั้งหมดสำหรับทุกเมือง เพราะอย่างในสวิตเซอร์แลนด์ ขึ้นแท็กซี่ทีก็ทำให้เรารู้สึกกระเป๋าตังเบาหวิว ส่วนรถไฟแอร์พอร์ตของปารีสก็ขึ้นชื่อเรื่องพวกล้วงกระเป๋าที่มาแฝงตัวอยู่ในขบวนโดยมีเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวที่หอบสัมภาระเยอะๆ และไม่ทันระวังตัว

ดังนั้นรถเมล์ก็น่าจะเป็นอีกตัวเลือกนึงที่นักเดินทางสายลุยควรเก็บไว้พิจารณา เพราะในบางประเทศ การใช้บริการรถบัสแอร์พอร์ตก็เวิร์กมากๆ

วันนี้ La Vie en Road จะมาแชร์ประสบการณ์ส่วนตัว การใช้แอร์พอร์ตบัสใน 4 เมืองท่องเที่ยวอย่างปารีส สิงคโปร์ จาการ์ตา และกรุงเทพฯ พร้อมให้คะแนนจากมากไปน้อย ที่ไหนเวิร์ก ที่ไหนพัง ไปดูกัน!

1.สิงคโปร์

5 ดาว

Changi Airport

changi-airport-public-bus-36-860x587

เริ่มจากประเทศที่เราคิดว่ามีระบบขนส่งสาธารณะที่เวิร์กที่สุด นั่นก็คือสิงคโปร์ หลายๆ คนน่าจะขึ้นรถไฟ MRT ไป-กลับแอร์พอร์ตที่สิงคโปร์จนชินและกลายเป็นทางเลือกที่คนส่วนใหญ่ใช้เดินทางไป-กลับแอร์พอร์ตมากที่สุด เพราะทั้งง่ายสะดวกรวดเร็ว ใช้เวลาเดินทางเข้าตัวเมืองแค่ประมาณ 30 นาทีเท่านั้น ในราคาแค่ 1.9 SGD เรียกว่าถูกที่สุดในบรรดาตัวเลือกการเดินทางทั้งหมด แต่ข้อเสียคือมีเวลาวิ่งตั้งแต่ 05.00-23.18 เท่านั้น และไม่มีที่สำหรับวางกระเป๋า

ถ้าหากว่าไฟลท์บินเราไม่ได้มาในช่วงเวลาให้บริการของรถไฟ หรือโรงแรมที่จองไว้ไม่ได้อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ MRT รถเมล์คืออีกหนึ่งทางเลือก นั่นก็คือรถเมล์สาย 36 ที่วิ่งเชื่อมระหว่าง Changi Airport กับใจกลางเมืองสิงคโปร์ มีรถออกหลายคันในแต่ละชั่วโมง นั่งรอที่ชั้นล่างของสนามบิน เดินตามป้ายรถเมล์ไปเรื่อยๆ แป๊บเดียวรถก็มา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงก็จะถึงในเมือง ค่าโดยสาร 2 SGD ซึ่งต้องเตรียมเงินให้พอดีเพราะไม่มีทอน (หรือเพียง 1.3 SGD เท่านั้นสำหรับผู้ใช้บัตร EZ link) ที่สำคัญจะมีตัวอักษรโชว์ขึ้นที่หน้ารถด้วยว่าขณะนี้อยู่ป้ายอะไร และป้ายหน้าคือที่ไหน รับรองไม่มีหลง

บอก Tips นิดนึงว่าธรรมเนียมการขึ้นรถเมล์ของที่นี่ คือต้องขึ้นประตูหน้า และลงประตูหลังนะจ๊ะ

——————————————

2.ปารีส

4 ดาว

Charles de Gaulle Airport

Screen Shot 2561-08-27 at 4.51.28 PM.png

จากสนามบินชาร์ลส์ เดอ โกลล์ เราสามารถเดินทางด้วยรถไฟ RER สาย B สีฟ้า เข้าเมืองก็ได้ ใช้เวลาประมาณ 35 นาที ราคา 11.4 ยูโร แต่ถ้าเราหอบสัมภาระเยอะแยะ มันจะทุลักทุเลมาก โดยเฉพาะบนบันไดเลื่อนในสถานีรถไฟใต้ดิน ซึ่งจะบอกว่าบางสถานีก็ไม่มีบันไดเลื่อนอีกต่างหาก อย่างเช่น Chatelet les Halles สถานีใหญ่ที่ทุกคนที่มาจากแอร์พอร์ตมักจะต้องไปเปลี่ยนขบวนที่นั่น เดินก็ไกล บางจุดก็ไม่มีบันไดเลื่อน แถมเวลาเมโทรมา ยังต้องรีบเคลื่อนย้ายสัมภาระให้เร็วทันก่อนประตูจะปิด อ้อแล้วยังไม่พอ ยังต้องระวังพวกมิจฉาชีพล้วงกระเป๋าด้วยจ้า เฮ้อออ… คือแบบตายก่อนเถอะ

เพื่อเป็นการตัดปัญหาดังกล่าวออกให้หมด วิธีที่เราใช้เข้าเมืองปารีสเป็นประจำจึงเป็นรถบัสค่ะ เพราะมีที่ให้วางกระเป๋า ขึ้นแล้วได้ที่นั่งก็ยาวไปเลย และไม่ได้เบียดเสียด จึงหมดกังวลเรื่องขโมยขโจรไปได้เปราะนึงbus_direct_plan3_rvb

รถบัสที่ให้บริการระหว่างสนามบินกับในตัวเมืองปารีสมีอยู่หลายเจ้า ที่คนรู้จักเยอะๆ ก็คือ Le Bus Direct สาย 2 ที่ผ่านเข้ากลางเมืองปารีส ส่วนสาย 3 สำหรับนั่งไปต่อที่สนามบิน Orly และสาย 4 สำหรับผู้ที่จะไปสถานีรถไฟ Gare de Lyon และ Gare de Montparnasse ราคา 17 ยูโร

แต่เจ้าที่เราเลือกใช้บริการบ่อยที่สุด คือ รัวซี่บุส (Roissy Bus) ซึ่งจะมีจุดขึ้นรถอยู่หลายที่ในสนามบิน ได้แก่ เทอร์มินัล 1, 2A-2C, 2 D, 2E, 2F และเทอร์มินัล 3 ขึ้นอยู่กับว่าเราแลนดิ้งที่เทอร์มินอลเท่าไร ใกล้ตรงไหนก็เดินไปตรงนั้น เขาจะมีป้ายบอกชัดเจนมาก หาคำว่า Roissy Bus เอาไว้

Screen Shot 2561-08-27 at 4.52.48 PM.png

Roissy Bus มีค่าบริการ 12.5 ยูโร ซื้อตั๋วบนรถกับคนขับได้เลย โดยรถจะไปสุดสายที่ Opera ใจกลางเมือง ที่ตรงนั้นจะเชื่อมกับเมโทรและรถเมล์สายอื่นๆ มากมาย หรือจะใช้บริการแท็กซี่อูเบอร์ไปที่โรงแรมเลยก็ราคาไม่แพงแล้วเนื่องจากอยู่ในเมือง ถูกกว่านั่งมาจากสนามบินหลายโข การเดินทางจากสนามบินเข้าเมืองของ Roissy Bus ใช้เวลาประมาณ 50 นาที ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจรด้วย (ต้องบอกว่าปารีสในเวลาเร่งด่วน เช้ากับเย็น ก็รถติดไม่ใช่เล่น บีบแตรกันสนุกสนานเหมือนกัน) ถ้าขากลับมาสนามบิน จะเอาเซฟๆ ก็ควรเผื่อเวลาก่อนเครื่องออกสัก 3 ชั่วโมง

เวลาให้บริการของ Roissy Bus จากตัวเมืองปารีส 05.15-00.30น. มีรถวิ่งทุกๆ 15-30 นาที / จากสนามบิน 06.00-00.30น. มีรถวิ่งทุกๆ 20-30 นาที

นอกจากนี้ยังมีรถบัสทั่วไปที่วิ่งผ่านสนามบิน ได้แก่ สาย 350 สุดสายที่ Gare de L’Est และสาย 351 สุดสายที่เมโทรสถานี Nation ซึ่งราคาค่าโดยสารจะถูกที่สุด เพียง 6 ยูโร แต่ไม่มีที่วางกระเป๋าและใช้เวลานานกว่าจะถึงเพราะแวะป้ายต่างๆ ตามรายทาง ราวๆ 70-90 นาทีกว่าจะถึงใจกลางเมือง

——————————————

3.กรุงเทพฯ

3 ดาว

Screen Shot 2561-08-27 at 5.07.45 PM.png

ต้องบอกก่อนว่าปกติแล้ว เรามักจะใช้วิธีเดินทางไปกลับสนามบินด้วยรถส่วนตัว หรือไม่ก็แท็กซี่เป็นหลัก ด้วยความที่บ้านอยู่ชานเมืองและไม่สะดวกกับขนส่งสาธารณะเลย รถส่วนตัวก็จะทั้งประหยัดกว่า เร็วกว่า แล้วก็คุมเวลาได้ดีกว่า ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนเวลาเดินทางไปสนามบินในกรุงเทพฯ ก็มักจะใช้รถยนต์หรือแอร์พอร์ตลิงค์เป็นหลักเช่นกัน น้อยคนมากๆ ที่จะนึกถึงรถเมล์ จนบางคนก็สงสัย เอ๊ะ บ้านเรามีรถเมล์เข้าออกสนามบินด้วยเหรอ

Suvarnnabhumi Airport

ขอเริ่มต้นจากสนามบินสุวรรณภูมิก่อน ด้วยความที่เป็นสนามบินนานาชาติ มีเที่ยวบินและสายการบินเยอะกว่า ต้องบอกว่าที่นี่ก็มีรถเมล์ค่ะ แต่ที่คนไม่ค่อยรู้และไม่ค่อยใช้กัน เป็นเพราะว่าสถานีรถไม่ได้อยู่เชื่อมกับอาคารผู้โดยสารหลัก (Passenger Terminal) แต่ตั้งอยู่ที่ศูนย์ขนส่งสาธารณะ (Public Transportation Center) ซึ่งจะต้องนั่งรถชัตเทิลบัสจากตัวสนามบินออกไปอีก

Screen Shot 2561-08-27 at 5.03.58 PM.png

ที่ศูนย์ขนส่งสาธารณะนี้เอง ที่รวมรถเมล์ รถทัวร์เอาไว้เยอะมาก หน้าตาเหมือนหมอชิตเบาๆ เพราะมีช่อง มีเลน ให้รถทัวร์และรถเมล์เข้ามาจอดตรงแต่ละป้ายที่ระบุจุดหมายปลายทางต่างๆ กันเอาไว้ ไม่ได้วิ่งแค่ในกรุงเทพฯนะ บางคันยิงตรงไปถึงพัทยา จันทบุรี ตราด หัวหิน และหนองคายกันเลยทีเดียว

Screen Shot 2561-08-27 at 5.09.57 PM.png

เอาเป็นว่าบทความนี้เรามาโฟกัสเฉพาะรถเมล์ขสมก.ที่วิ่งในกรุงเทพฯ และผ่านเข้ามาในสนามบินสุวรรณภูมิ จะมีเพียง 3 สายเท่านั้น ได้แก่ 554 สุวรรณภูมิ-รังสิต (ผ่านรามอินทรา วิภาวดี ดอนเมือง), 555 สุวรรณภูมิ-รังสิต (ลงทางด่วนพระราม 9) และ 558 สุวรรณภูมิ-เช็นทรัลพระราม 2 ทั้งหมดเป็นรถเมล์ปรับอากาศ และราคาค่าโดยสารตลอดสาย 34 บาท (จ่ายเงินกับกระเป๋ารถเมล์บนรถได้เลย ถูกเวอร์)

40141561_1153458294817311_2215504140283412480_n.jpg
ที่ศูนย์ขนส่งสาธารณะ สนามบินสุวรรณภูมิ

สำหรับคนที่จะไปต่อสนามบินดอนเมือง สามารถขึ้นสาย 554 ได้ แต่สำหรับบ้านเราซึ่งอยู่สุขสวัสดิ์ วันนั้นก็เลยได้มีโอกาสลองนั่งสาย 558 และจากผลการรีวิวก็พบว่าสภาพภายในรถเมล์ค่อนข้างเก่ามาก ใช้เวลาไปถึงกิโล 9 สุขสวัสดิ์ ประมาณ 1 ชั่วโมง แบบรถไม่ค่อยติดเท่าไร ซึ่งถ้าเทียบจากราคา 34 บาท นับว่าถูกกว่าแท็กซี่ประมาณ 10 เท่า มันก็นับว่าโอเคเลยทีเดียว สำหรับวันที่ไม่รีบและสัมภาระไม่เยอะมาก (เราถือกระเป๋า cabin size ใบเดียว สามารถวางแทรกไว้ตรงระหว่างที่นั่งได้)

40231965_236902547017777_3143158943837061120_n.jpg
บรรยากาศในรถเมล์สาย 558

วิธีการขึ้นรถเมล์แอร์พอร์ตเหล่านี้ สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ จากอาคารผู้โดยสารให้เดินไปที่จุดขึ้นรถ shuttle bus ซึ่งมีอยู่หลายจุด ได้แก่ สาย A: ชั้น 1 ประตู 3 และประตู 8, สาย Express ชั้น 2 ประตู 5 และชั้น 4 ประตู 5 ทั้งหมดนี้จะไปจอดที่ศูนย์ขนส่งสาธารณะ แต่ถ้ารีบ แนะนำให้ขึ้นสาย Express จะเร็วที่สุด เพราะวิ่งรับส่งแค่อาคารผู้โดยสารกับศูนย์ขนส่งสาธารณะเท่านั้น ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางจากในเมืองเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็ให้ลงที่ศูนย์ขนส่งสาธารณะแล้วก็ต่อ shuttle bus สาย A หรือ Express ก็ได้ เข้าไปยังอาคารผู้โดยสารเลย

นอกจากนี้รถเมล์ ขสมก. ที่หลายคนทำหน้าเซ็งว่าทำไมมีวิ่งแค่ 3 สาย ก็ต้องบอกว่าเขายังมีรถตู้ให้บริการในเส้นทางอื่นๆ อีกถึง 8 สาย ซึ่งจะเข้าไปรับส่งผู้โดยสารที่อาคารผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 1 ประตู 8 เลย ไม่ต้องเสียเวลานั่งชัตเทิลบัสออกมาที่ศูนย์ขนส่งฯ ได้แก่

-รถตู้สาย 549 สุวรรณภูมิ-มีนบุรี (04.45-23.30) โดยปกติรถออกทุกๆ 10 นาที และในช่วงเวลาเร่งด่วน 04.45-06.00 รถจะออกทุก 5 นาที

-รถตู้สาย 550 สุวรรณภูมิ-แฮปปี้แลนด์ (06.00-22.30) รถออกทุก 20 นาที

-รถตู้สาย 551 สุวรรณภูมิ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (05.30-20.00) รถออกทุก 30 นาที

-รถตู้สาย 552 สุวรรณภูมิ-อ่อนนุช (6.00-22.00) รถออกทุก 15 นาที และในช่วงเวลาเร่งด่วน 6.00-9.00 รถจะออกทุก 10 นาที

-รถตู้สาย 552A สุวรรณภูมิ- สมุทรปราการ (6.00-22.00) รถออกทุก 20-25 นาที

-รถตู้สาย 554 สุวรรณภูมิ- รังสิต (ผ่านรามอินทรา-สะพานใหม่) 08.00-20.20 เวลาออกรถ 8.00, 9.00, 17.00, 17.30, 19.30, 20.20

-รถตู้สาย 555 สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง (ดินแดง-วิภาวดี-ดอนเมือง) 06.00-21.30 วิ่งเส้นทางเดียวกับรถเมล์สาย 555 (รถออกทุก 20 นาที ยกเว้น 10.00-14.00 ออกทุก 40 นาที)

-รถตู้สาย 559 สุวรรณภูมิ-รังสิต (วงแหวน-ลำลูกกา-ดรีมเวิลด์) 06.00-23.00 (06.00-15.00 ออกทุก 30-40 นาที / 15.00-23.00 ออกเมื่อคนเต็ม)

Don Muang Airport

Screen Shot 2561-08-27 at 5.12.29 PM.png

สำหรับสนามบินดอนเมือง อันนี้การเดินทางด้วยรถเมล์จะค่อนข้างสะดวกสบายกว่าสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะไม่ต้องต่อชัตเทิลบัส รถเมล์สาย A1 จะเข้าไปรับเราที่ชั้น 1 อาคารผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ อาคาร 1 (T1) ทางออกที่ 6 และอาคารผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศ (T2) ทางออกที่ 12 เรียกว่าไม่ว่าจะมาจากในประเทศหรือต่างประเทศ ก็สามารถรับกระเป๋าสัมภาระแล้วก็เดินตามป้ายสัญลักษณ์รถโดยสารประจำทาง ลงมารอรถเมล์ที่ชั้นล่างได้เลย

รถเมล์เข้าเมืองของสนามบินดอนเมืองจะแบ่งเป็นสาย A1 สนามบินดอนเมือง-จตุจักร (รถออกทุก 5 นาที) และสาย A2 สนามบินดอนเมือง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (รถออกทุก 30 นาที) ค่าโดยสาร 30 บาทตลอดสาย ให้บริการตั้งแต่ 07.00-24.00

สำหรับผู้โดยสารที่จะนั่งเข้ามายังสนามบินดอนเมือง โดยมีจุดเริ่มต้นจากสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต เขาจะมีป้ายบอกไปยังป้ายรถเมล์ A1 อย่างชัดเจน โดยให้ใช้ทางออกที่ 3 ส่วนคนที่มาโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงสถานีจตุจักรและให้ใช้ทางออกที่ 1 ทางไปตลาดนัดจตุจักร เดินออกมาเลี้ยวซ้ายก็จะเจอกับป้ายรถเมล์เลย

จากที่เคยใช้บริการสาย A1 ระยะทางจากต้นทางไปปลายทางใช้เวลาราวๆ 20-30 นาที ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร แต่ด้วยความที่ขึ้นโทลล์เวย์ก็เลยค่อนข้างจะสะดวกรวดเร็ว ถ้าสัมภาระไม่เยอะ รถเมล์ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะช่วยเราประหยัดค่าใช้จ่าย แล้วเก็บตังไว้ไปเที่ยว ไปช้อป ไปกิน ได้อีกเพียบค่ะ

——————————————

4.อินโดนีเซีย

2 ดาว

Soekarno-Hatta Airport

Screen Shot 2561-08-27 at 5.13.31 PM.png

ปิดท้ายด้วยสนามบินที่จาการ์ตา อินโดนีเซียกันค่ะ ที่เห็นให้คะแนนน้อยที่สุดอย่าเพิ่งเบือนหน้าหนี เราแค่อยากจะบอกว่าที่ให้คะแนนน้อยก็เพราะว่าที่จาการ์ตานั้นรถติดมาก จนไม่ว่าการเดินทางด้วยวิธีไหนเข้าสนามบินก็รู้สึกถูกดูดพลังทั้งสิ้น ที่นี่คนส่วนใหญ่ใช้บริการแท็กซี่ ซึ่งก็เสี่ยงต่อการโดนโก่งราคา แถมยังเจอรถติดโดยที่จ่ายแพงไปแล้วก็ไม่ช่วยอะไร

ข้อจำกัดอีกอย่างของรถเมล์ที่นี่คือรถจะไปส่งแค่ไม่กี่จุดในเมือง นั่นหมายความว่ายังไงเราก็ต้องไปต่อแท็กซี่ไปโรงแรมอยู่ดี และอีกข้อก็คือคนแน่นค่ะ ถ้าขึ้นช้าอาจต้องยืน แต่มันก็ได้ฟีล local ดีนะ (รึเปล่า)

Screen Shot 2561-08-27 at 5.14.36 PM.png

เอาเป็นว่าเราขึ้นมาแล้ว มันไม่แย่มาก และถ้ามีโอกาสจะไปจาการ์ตาอีก เราก็จะใช้บริการอีก เพราะถือคติว่าไหนๆ ก็ต้องเจอรถติดแล้ว เราเลือกแบบเสียตังน้อยๆ ดีกว่า

รถเมล์ที่ว่านี้ชื่อ Damri Bus เมื่อเราออกจากสนามบินแล้วให้เดินไปชั้นล่าง ออกไปหน้าประตูก็เลี้ยวซ้าย เดินตรงไปถึงซ้ายสุดๆ จะเจอเคาน์เตอร์ขายตั๋ว ให้เราแจ้งสถานีที่จะลง และพนักงานก็จะแจ้งราคากลับมา เรานั่งไปสถานีรถไฟ Gambir ใจกลางเมือง ราคา 40,000 Rp. ถูกกว่าแท็กซี่หลายเท่า เพราะถ้าเรียกแท็กซี่ก็จะเป็นหลักแสน Rp. เลยทีเดียว เมื่อซื้อตั๋วแล้วก็เดินไปนั่งรถตรงที่นั่งที่เขาจัดไว้ ใครเอากระเป๋าเดินทางใบใหญ่มา สามารถวางไว้ใต้ท้องรถ ไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัยเพราะมีพนักงานคอยดูแลความเรียบร้อยบนรถ และไม่ต้องกลัวหลงด้วยเพราะพนักงานจะคอยตะโกนบอกเมื่อถึงแต่ละป้าย

รถเป็นรถเมล์ปรับอากาศ มีแอร์ไม่ต้องห่วง สภาพภายในคล้ายๆ รถเมล์เก่าๆ ของไทยที่จะมีกลิ่นเหม็นอับนิดนึง แต่ที่เจ๋งคือมี free wifi ค่ะ

Comments are closed.