บนท้องถนนในเมืองจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ไม่ค่อยต่างจากบรรยากาศหน้าเซ็นทรัลเวิลด์วันศุกร์เย็นเท่าไร คนอินโดต้องอยู่กับรถติดแสนสาหัสทุกวัน ทุกเวลา ไม่ว่าจะเช้าสายบ่ายเย็น ชั่วโมงไม่เร่งด่วนก็ติด ชั่วโมงเร่งด่วนยิ่งติด เพราะทุกคนที่นี่ใช้รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ในการเดินทางเป็นหลัก ไม่มีรถไฟฟ้า ไม่มีรถไฟใต้ดิน มีแต่รถไฟวิ่งระยะไกลข้ามเมือง

IMG_4653
จาการ์ตาตอนกลางวัน

จากสนามบิน นั่งรถเข้าเมืองในช่วงเที่ยงๆ เราใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่าๆ แต่นั่นก็ทำให้เราเพลียมาก ถนนที่นี่แคบจริงๆ แถมปริมาณรถนั้นไม่สัมพันธ์กับถนนเลย ทุกคนแย่งกันไป ทุกคนแทรกเลน มอเตอร์ไซค์จำนวนมหาศาลกระจัดกระจายเต็มทุกพื้นที่ว่าง เราว่าคนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ต้องเครียดไม่น้อย เพราะแค่ยังไม่ถึงที่พัก ยังรู้สึกเมาคาร์บอนไดออกไซด์ เมาจังหวะการเบรกกระตึกๆ ต่อให้มีต้นไม้ใหญ่สองข้างทางเยอะกว่ากรุงเทพฯ มากๆ แต่ก็ยังสู้ปริมาณมลพิษไม่ได้

IMG_4809
จาการ์ตาตอนกลางคืน

ในจาการ์ตา มีทั้งบ้านหลังใหญ่โตมโหฬาร แล้วก็มีทั้งสลัมแออัดแสนสกปรก คนที่นี่ถ้าไม่รวยมากก็จนมากไปเลย หาชนชั้นกลางไม่ค่อยมี ช่องว่างทางสังคมจึงเยอะมาก และนั่นเป็นปัญหาที่สะสมมานานแล้ว

IMG_4649
The Presidential’s Palace Painting’s collection พิพิธภัณฑ์จัดแสดงผลงานเพนต์ติ้งของประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซีย

บางคนอาจคิดว่าจาการ์ตามีแต่ห้าง ไม่ค่อยมีอะไรให้เที่ยวมาก แต่ที่จริงแล้วห้างใหม่ๆ บางที่ก็มีช้อปเก๋ๆ วางขายงานดีไซน์เยอะเหมือนกัน นอกจากนี้ก็ยังมีแกลเลอรี่และมิวเซียมเยอะมาก เพราะคนอินโดรักศิลปะ มีอาร์ทิสต์เยอะ คอลเลกเตอร์ก็เยอะ ถ้าเห็นตัวเลขการซื้อขายงานศิลปะในแต่ละปีแล้วจะต้องตกใจ เพราะอินโดคืออันดับหนึ่งในเรื่องศิลปะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาพวาดชิ้นนึงที่เราชอบมากใน The Presidential’s Palace Painting’s Collection ชื่อภาพ “Jalan Di Tepi Sawah” ของ S. Soejono Ds เป็นภาพทางเดินในป่า ที่เล่นกับมุมมอง (perspective) ได้น่าสนใจ เทคนิคเดียวกับภาพวาดโมนาลิซา นั่นก็คือ ไม่ว่าเราจะยืนมองจากมุมไหน ซ้าย ขวา หรือตรงกลาง เราจะรู้สึกเหมือนกับว่าทางเดินนั้นเริ่มต้นปูทิศทางจากจุดที่เรายืนอยู่

IMG_4629
นิทรรศการชั่วคราวที่ The Presidential’s Palace Painting’s collection
IMG_4639
นิทรรศการชั่วคราวที่ The Presidential’s Palace Painting’s collection
IMG_4576
ร้านขายเสื้อผ้าในห้างเปิดใหม่ของจาการ์ตา

IMG_4578

เรามาทำงานที่จาการ์ตาไม่กี่วันก็รู้สึกเหนื่อยและเพลียจากการเดินทางทุกวัน ก็เลยจัดทริปออกนอกเมือง และเมืองบันดุงก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเพราะอยู่ห่างจากจาการ์ตาไปประมาณ 3 ชั่วโมง แถมมีแลนด์สเคปที่สวย ไฮไลท์คือภูเขาไฟ น้ำตก แล้วก็ร่องรอยทางวัฒนธรรมจากยุคล่าอาณานิคม

IMG_5097.JPG

บันดุงได้สมญานามว่า ‘ปารีสแห่งชวา’ เพราะเมื่อก่อนชาวดัตช์ใช้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางการปกครอง ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง จึงอากาศเย็นสบายกว่าจาการ์ตา

เราใช้วิธีนั่งรถไฟจากสถานี Gambir (กัมบีร์) ใจกลางจาการ์ตาเลย ภายในสถานีมีตู้ขายตั๋วอัตโนมัติ เราสามารถเข้าไปกดเลือกเมนูภาษาอังกฤษแล้วก็เลือกสถานที่ที่จะไป วัน รอบ แล้วก็พิมพ์ชื่อตัวเองกับเบอร์โทรศัพท์ลงไป จ่ายเงินแบบพอดีเป๊ะ เพราะเครื่องเขาไม่มีเงินทอน จากนั้นก็จะได้ใบมาแล้วเอาไปปรินท์ตั๋วที่อีกตู้นึง พอถึงเวลาเดินทาง ก็แค่ยื่นตั๋วใบนี้พร้อมกับพาสปอร์ตให้เจ้าหน้าที่ทางเข้าดู และก็ขึ้นไปรอที่ชานชาลาได้เลย

IMG_5057.JPG

สำหรับคนที่ถือกระเป๋าพะรุงพะรัง จะมีคนคอยมาถามว่าไปไหนและพยายามจะช่วยเราถือกระเป๋าขึ้นไปส่ง ซึ่งถ้าเราให้เขาช่วย ก็แน่นอนว่าต้องเตรียมค่าทิปไว้ให้เขาด้วย

IMG_5054

รถไฟที่เราเลือกนั่งเป็นชั้น eksekutif เรียกว่าดีที่สุด ติดแอร์ เบาะกว้างนุ่มสบาย เอนนอนได้ด้วย มีห้องน้ำอยู่ท้ายโบกี้ ไปลองเข้าดูแล้ว พบว่ามันสะอาดดี แต่มีความทรงตัวยากประมาณนึง ยากกว่าเครื่องบินอีกแฮะIMG_5087.JPG

วิวจากหน้าต่างสวยมาก ผ่านบ้านคน ภูเขา ทุ่งนา นาขั้นบันได อุโมงค์ประวัติศาสตร์ และสะพานเหล็กยาวๆ ข้ามแม่น้ำ เรียกว่าชิลเลยแหละ คนละเรื่องกับตอนอยู่บนท้องถนน

นั่งๆ อยู่จะมีพนักงานเข็นอาหารมาขายด้วยนะ นาสิโกเร็ง หมี่โกเร็ง อะไรก็สั่งได้เลย จ่ายเงินตรงนี้ กินตรงนี้

นั่งไปหลับไป แป๊บเดียวมาถึงบันดุงละ เราเรียก Grab car ไปโรงแรมก่อน ที่นี่เขาใช้แอพทั้ง Uber และ Grab กันโดยทั่วไป สะดวกมาก ไม่มีปัญหาอะไร แถมถูกกว่าราคาแท็กซี่แบบโบกๆ ด้วย

IMG_5100.JPG
บรรยากาศในตัวเมืองบันดุง มักจะมีรถเข็นขายอาหาร หน้าตาน่ารักแบบนี้ อย่างคันนี้ขายไอติมทุเรียน ถ้วยละประมาณ 15 บาท

จุดหมายของเราอยู่ที่ภูเขาไฟตังกูบัน เปอราฮู (Tangkuban Perahu) แปลว่าเรือคว่ำ เพราะรูปทรงของภูเขาไฟเป็นเหมือนเรือคว่ำ อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณชั่วโมงกว่าๆ ตอนแรกกะว่าจะเรียก Grab car ออกไป แต่ถูกคนขับโทรมาปฏิเสธ เขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ด้วยนะ เราต้องเดินไปให้พนักงานตรงเคาน์เตอร์โรงแรมช่วยคุยให้ ถึงได้รู้ว่าคนขับไม่อยากไปเพราะวันเสาร์อาทิตย์ในบันดุงรถติดมาก ก็เลยถามหาบริการรถเช่าของโรงแรม เขาบอกว่ามี แต่คิดราคาเหมา 700,000 Rp. (ประมาณ 1,800 บาท)

พนักงานถามว่า “จะไปกี่คน”

“คนเดียว” เราตอบ

พนักงานก็เลยบอกว่า “งั้นไป Grab Bike ดีกว่า ถูกกว่าเยอะ เดี๋ยวจะเรียกให้”

“Grab Bike!! มอเตอร์ไซค์?? ขึ้นภูเขาไฟ ไม่อันตรายเหรอ”

“ไม่อันตราย ไปได้ มันโอเค” นางยืนยัน

อ่ะ ในเมื่อคนโลคอลยืนยัน เราก็ต้องเชื่อเขา แถมเขาช่วยกดแอพให้ ช่วยคุยภาษาอินโดกับคนขับให้ แล้วยังพาเดินไปส่งถึงที่รถอีก ด้วยราคาที่บั่บ…ถูกมาก จากตัวเมืองบันดุงไปถึงภูเขาไฟ ประมาณ 30 กิโลเมตร 42,000Rp. (107 บาท)

ใส่เลกกิ้ง สะพายเป้ สวมผ้าปิดปาก แล้วก็ขึ้นมอไซค์ไปเลย แรกๆ ก็ยังโอเค แต่หลังๆ ไม่โอเคละ ให้นึกถึงความรู้สึกตอนนั่งรถขึ้นดอย มันจะเวียนหัวเมาๆ เพราะมันโค้งไปโค้งมาแถมบางช่วงเป็นทางชัน คือเราอยู่บนท้ายมอไซค์ด้วยความรู้สึกพะอืดพะอมประมาณชั่วโมงครึ่ง T-T

ไม่มีรูปให้ดูเลย ณ จุดนี้ ต้องเอาชีวิตให้รอดก่อน มอไซค์ขึ้นเขาชันแทบจะตั้งฉาก 90 องศา บร้าล้าวววว…

จากบันดุง เราวิ่งผ่านเลมบัง (Lembang) เมืองตากอากาศอีกแห่งที่คนนิยมมาเที่ยวกัน ยิ่งขึ้นเขา อากาศก็ยิ่งเย็นขึ้นเรื่อยๆ ผ่านร้านขายเป็ด ร้านขายแพะ ร้านขายแมว สารพัดสัตว์ แต่ไม่สามารถหยิบกล้องมาถ่ายรูปได้เลย แค่ทรงตัวให้อยู่ก็รู้สึกว่าตัวเองเก่งมาก

Grab Bike มาส่งหน้าทางเข้าอุทยาน Tangkuban Perahu ตรงช่องขายตั๋ว โดนค่าเข้าไป 300,000Rp. (770 บาท) แพงมากข่ะ!! แต่นี่คือเรทของวันเสาร์อาทิตย์ ถ้ามาวันธรรมดา สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะจ่ายแค่ 200,000Rp.

ณ จุดนั้น มีน้องเด็กแว๊นคนนึงอาสาพาเราซ้อนมอไซค์ขึ้นด้านบน Top สุดของภูเขา ด้วยราคาไม่แพง ก็เลยไม่ลังเล ซ้อนท้ายนางไป หน้าตาน้องเป็นแบบสายแว๊นเลย และขี่มอไซค์เร็วมากกกกก ดูทรงแล้วน่าจะขับขึ้นลงเขาทุกวัน เพราะดูเชี่ยวชาญ จนบางทีเราก็คิดว่านี่มาดรีมเวิลด์รึเปล่า รู้สึกเสียวท้องวูบๆ เหมือนตอนนั่งรถไฟเหาะ

IMG_5116

เมื่อขึ้นมาถึงปากปล่องภูเขาไฟ และมองลงไปด้านล่าง ภาพที่เห็นตรงหน้าสำหรับคนมาเที่ยวภูเขาไฟครั้งแรก ต้องใช้ Adjective “Stunning” / “Amazing” คือมันสวยตะลึง รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ และรู้สึกถึงพลัง จนลืมไปแล้วว่าเวียนหัวอยู่

IMG_5113

IMG_5155IMG_5132

ภูเขาไฟ ตังกูบัน เปอราฮู เป็นภูเขาไฟที่สูงที่สุดในชวาตะวันตก ที่ความสูง 2,084 เมตร บนนี้อากาศค่อนข้างหนาว เพียง 10 กว่าองศา ได้กลิ่นกำมะถัน และมองลงไปจะเห็นปากปล่องเป็นหลุมกว้าง ในปล่องมีเศษหินสีเทากระจายอยู่จากการระเบิดในอดีต ที่ก้นปล่องมีแอ่งโคลนสีขาวซึ่งบางจุดยังมีควันขาวๆ พวยพุ่งออกมา ระเบิดครั้งล่าสุดไปเมื่อปี 2013 ใครขี้เกียจเดิน เขามีม้าให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย สำหรับเดินพาไปยังจุดชมวิวต่างๆ

IMG_5174IMG_5180

ไม่ไกลกันเท่าไร เราสามารถออกไปเที่ยวไร่ชา ไร่สตรอเบอรี่ และน้ำตกร้อน Ciater – Sari Ater ที่เชื่อกันว่า ถ้าใครได้ไปแช่ จะคงความเป็นหนุ่มสาว น้ำตกเป็นน้ำร้อนๆ โดยธรรมชาติ ไหลซู่ๆ มีไอน้ำลอยไปทั่ว แค่ได้กลิ่นก็สดชื่น เราเดินเลือกบ่อที่จะแช่ได้ตามความพอใจ อยากลงไปแค่เท้า หรือลงไปทั้งตัวก็ไม่มีใครว่า นี่ก็ลงไปแช่มา น้ำร้อนสะใจ เหมือนแช่ออนเซ็น

IMG_5198
น้ำตกร้อน Ciater

น้ำพุร้อนที่นี่เปิด 24 ชั่วโมง ค่าเข้า 32,000Rp. มัดจำตั๋ว 15,000Rp. ขาออกให้เอาตั๋วซึ่งเป็นบัตรแข็งๆ ไปคืน ก็จะได้ค่ามัดจำกลับมา

IMG_5208.JPG
บ่อน้ำร้อนสำหรับแช่เท้า

ความพีคมันอยู่ที่ขากลับนี่ล่ะ เพราะแช่น้ำพุร้อนซะเพลิน ออกมาข้างนอกมืดหมดแล้ว และน้องแว๊นก็พาเราขี่มอไซค์ลงเนินเขาชันๆ ในความมืด มืดดดดแบบมองไม่เห็นอะไรเลย ไม่มีไฟทาง มีแต่ไฟหน้ารถมอไซค์เล็กๆ ริบหรี่ๆ น้องหันมาบอกว่า Be Careful แล้วน้องก็บิดแบบไม่สนใจใยดี อยากกรี๊ดยาวๆ ตอนนางปล่อยไหลลงเนิน แต่ก็เกรงใจ

สุดท้ายน้องแว๊นมาส่งเราถึงที่เลมบัง และยืนรอรถเป็นเพื่อน เมื่อรถกะป๊อเก่าๆ วิ่งผ่านมา นางช่วยโบกและคุยกับคนขับให้ไปส่งเราที่โรงแรมในเมือง

ถ้าถามเรานะ สามคำสำหรับอินโด คือ รถติด ผู้คนใจดี และแลนด์สเคปโคดสวย

สรุปค่าใช้จ่าย

– รถไฟชั้น eksekutif จาการ์ตา (สถานี Gambir) ถึงบันดุง เที่ยวละ 125,000 Rp.

– ค่า grab bike จากตัวเมืองบันดุง ไปภูเขาไฟ Tangkuban Perahu 42,000 Rp.

– ค่าตั๋วเข้าอุทยานภูเขาไฟ Tangkuban Perahu (เรทนักท่องเที่ยวต่างชาติ วันเสาร์อาทิตย์) 300,000 Rp. / คน

– ค่าตั๋วเข้าอุทยานน้ำตกร้อน Ciater 32,000 Rp. + ค่ามัดจำบัตร 15,000 Rp. (ตอนออกจากน้ำตก อย่าลืมเอาบัตรไปคืน จะได้มัดจำกลับมา เราเนี่ยลืมคืน T-T)

– ค่าเหมามอไซค์พาขึ้นปากปล่องภูเขาไฟ – น้ำตกร้อน Ciater – Lembang 300,000Rp.

– ค่ารถมินิบัสจาก Lembang กลับเข้าตัวเมืองบันดุง 10,000 Rp.

– ค่ารถตู้ของบริษัท xtrans จากตัวเมืองบันดุง ไปสนามบินจาการ์ตา (โดยไม่แวะพัก) ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง 150,000 Rp.

อัญวรรณ ทองบุญรอด นักเขียน/นักดนตรี เจ้าของผลงานหนังสือ 'เวียนนา ลาทีโด' นอกจากเล่นเชลโลแล้ว ยังชอบออกเดินทางคนเดียวอยู่เสมอๆ มิวเซียม ตลาดของเก่า ร้านกาแฟ และเมืองที่มีกลิ่นอายวัฒนธรรมเก่าแก่คือสถานที่ที่เธอชอบไป

1 COMMENT

  1. ขอบคุณครับ มีประโยชน์มากสำหรับคนที่ไม่เคยไป แต่กำลังจะไปเองลำพัง

Leave a Reply